ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปลายๆยุค ‘50s คุณยายยังสาวๆ กล้องถ่ายรูปดูจะเป็นเรื่องของคุณผู้ชายซะมากกว่า สมัยนั้นกล้องถ่ายรูปก็เหมือนรถมอเตอร์ไซด์แมนๆสักคัน ดูเป็นกลไกยุ่งยากๆ หนักๆ ไม่มีผู้หญิงสาวๆสวยๆแบกมันถ่ายรูปเหมือนสมัยนี้สักเท่าไหร่ ต้องนึกตามสักนิดว่าหน้าตากล้องยุคนั้นจะเป็นประมาณนี้
การถ่ายรูปจึงต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะ ที่คุณผู้หญิงคงไม่ค่อยอยากจะสนใจมันเท่าไหร่ ด้วยสิ่งนี้เลยกลายเป็นช่องว่างทางการตลาดที่น่าสนใจมาก ร้อยละ 98% ของคนซื้อกล้องคือผู้ชาย และเพียง 2% เท่านั้นที่ซื้อกล้องมาใช้กัน
นอกจากกล้องจะเป็นของแมนๆแล้ว ก็ยังมีราคาสูงอีกต่างหาก เรียกว่าเป็นของเล่นคนมีตังประมาณนั้น จนกระทั่งบริษัทผลิตกล้องของญี่ปุ่นบริษัทนึง ให้โจทย์ที่ดูยาก แต่น่าสนใจกับเด็กฝึกงานคนนึง ว่า จงไปออกแบบกล้องที่มีราคาไม่เกิน 6,000 เยน ซึ่งถือว่าราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพยุคนั้น และก็เป็นโจทย์ที่ยากเกินใครๆในยุคนั้นจะนึกไปถึง แต่ในที่สุด เด็กฝึกงานที่มีความสามารถคนนั้น ก็สามารถผลิตกล้องที่มีราคาถูก ใช้ง่าย แต่คุณภาพเยี่ยมสำหรับยุคนั้นได้สำเร็จ เด็กฝึกงานคนนั้นก็คือ คุณ Maitani แห่งบริษัท Olympus นั่นเอง
กล้องที่ Olympus สร้างในตอนนั้นก็คือ Olympus Pen เริ่มวางขายครั้งแรกเมื่อปี 1959 ถือว่าเป็นกล้องรุ่นแรกของซีรีย์ Pen ทั้งหมด และเป็นกล้อง Half Frame ตัวแรกของ Olympus ( คืออาจจะมีมาก่อนในตลาด แต่ไม่ได้รับความนิยม จนกระทั่ง Olympus มาสร้างบรรทัดฐานใหม่ ) ด้วยคอนเซปที่ต้องการทำตลาดกับผู้หญิงที่แทบไม่เคยคิดอยากจะได้กล้องเลย ให้หันมาซื้อกล้องกัน เจ้า Pen นี่ก็เลยมีลักษณะสำคัญคือ เล็ก และ ถ่ายได้ง่าย ประหยัด เพราะเป็น Half Frame จึงถ่ายได้รูปมากกว่าปกติเท่าตัว

Olympus Pen รุ่นแรกยังใช้ได้ยากอยู่บ้าง เช่น นอกจากจะเป็นกล้องประเภทกะระยะโฟกัสเอาเองแล้ว มันก็ยังไม่มีที่วัดแสง และการถ่ายก็ต้องตั้ง F-Stop และ Shutter Speed เอาเอง แน่นอนว่าเมื่อสาวๆที่ไม่ได้ชอบทฤษฎีถ่ายรูปสักเท่าไหร่เอาไปถ่าย ก็มักจะได้รูปเบลอๆ ไม่ก็มืดๆ หรือ สว่างจ้ามาแทน
แม้ว่าจะใช้ได้ง่ายกว่ากล้องตัวอื่นๆในตลาดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังยากเกินไปอยู่ดี มันจึงถูกพัฒนาปรับปรุงตามมาเรื่อยๆ และรุ่นที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ก็คือ Olympus Pen EE ซึ่งเริ่มวางขายในปี 1961

Olympus Pen EE ชื่อพ่วงท้าย EE นี่ย่อมาจาก Electronic Eye System คือเค้าเอาเทคโนโลยี Selen Light Meter เพื่อใช้ในการวัดแสง ซึ่งเจ้าเซเลเนียมนี่ใช้แสงสว่างในการทำงาน เลยไม่ต้องพึ่งพาแบตฯเลย จุดเด่นขอระบบนี้คือ เมื่อวัดแสงแล้ว กล้องจะจัด F-Stop ที่เหมาะสมกับรูปนั้นให้เอง และเวลาที่ถ่ายในที่แสงไม่พอ ตอนที่เรากดชัตเตอร์ มันจะกดไม่ลง พร้อมกับมีเส้นแดงๆเด้งขึ้นมาบังใน Viewfinder เรา เก๋ๆนะครับ
เอาล่ะ.. เรามาเริ่มรีวิวกันเลยดีกว่า กล้องที่เราใช้ตัวนี้คือ เป็นรุ่นอัพเดทในปี 1962 ( คือเจ้า Pen ซีรีย์นี่จะบอกว่ารุ่นเยอะมากๆ เพิ่มนั่นแก้นี่กันเต็มไปหมด เดี๋ยวจะเขียนเกี่ยวกับรายละเอียดแต่ละรุ่นไว้ให้นะ )
เราได้กล้องตัวนี้มาด้วยความสวยอย่างเดียวเลย คือเห็นปุ๊ป เฮ้ย..สวย เลยซื้อมาซะงั้น โดยยังไม่รู้ที่มาที่ไปของรุ่น จนกระทั่งมาตามศึกษาทีหลัง สเปคคร่าวๆคือเป็นเลนส์ F=2.8cm F-stop ตั้งแต่ 3.5 – 16 ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป ส่วน Shutter Speed มี 2 ระดับคือ 1/40 และ 1/200 sec โดยมันจะเลือกให้ Auto
เริ่มจากการโหลดฟิล์มก่อนเลย วิธีใส่ฟิล์ม ฝาหลังของกล้องจะต้องถอดมาทั้งยวงแบบนี้ แล้วก็โหลดตามปกติไป (สังเกตว่าสมัยก่อน ตัวหนามเตยจะเป็นเหล็ก ดูแข็งแรง ซึ่ง Olympus ใช้แบบนี้ประมาณถึงปี 1963) เมื่อโหลดเสร็จแล้ว ปิดฝา หมุนๆแล้วกดชัตเตอร์สัก 3 รอบ จากนั้นต้องตั้งการนับรูปเองนะ จะอยู่ด้านขวามือของเรา วงกลมๆนั้นให้เอาเล็บหมุนๆไปที่ 72 เวลาถ่ายมันก็จะลดลงไปเรื่อยๆจนถึง 0
กล้องนี้จะมีโหมด Auto เลยคือตั้งที่ ASA ให้ตรงกับ ISO ฟิล์ม แล้วเวลาจะถ่ายก็เล็งแล้วถ่ายเลยครับ ไม่ต้องโฟกัส เนื่องจากกล้องจะปรับ Fให้ได้ภาพชัดที่สุดเสมอ ( ทั้งนี้ทั้งนั้น ระยะจะเริ่มตั้งแต่ 60 cm ไปถึง Infinity นะ ) ด้วยระบบ Electronic Eye System กล้องก็จะวัดแสงแล้วจัดให้เองเลย ถ้าแสงไม่พอ เราจะกดชัตเตอร์ไม่ได้เองแหล่ะ
หรือจะ Manual ขึ้นมาหน่อย กล้องจะให้เราปรับ F-Stop ได้เอง โดยจะไม่มีการวัดแสงแล้วนะ แล้วแต่ความแม่นของแต่ละคน เช่นแสงขนาดนี้ ก็ตั้ง F เท่านี้ๆ แล้วน่าจะชัด (ซึ่งหลักก็คือพยายามตั้ง F ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ดี) โดย Shutter Speed จะสัมพันธ์กับ F ประมาณว่า F 3.5 – 8 จะเป็น Shutter Speed 1/200 sec และ F 11 – 22 จะเป็น Shutter Speed 1/40s
สรุปคือ ตั้ง Auto เถอะครับ จะได้ไม่เป็นภาระในอนาคต ฮาๆ ยากเกิ๊น.. เราเคยเละมาแล้วเมื่อตอนแรกที่ได้กล้องมา ร้อนวิชามาก ตั้ง F ใหญ่เลย รูปเสียแถมหมดทีเดียว ( คุณ Maitani เคยพูดถึงการตั้งค่า Manual แบบนี้บนกล้อง Pen รุ่นแรกที่ไม่ Auto ว่า เพราะเคยเห็นคนถ่ายตั้งค่าเองแบบนี้แหล่ะ คิดว่าไม่น่ารอดแน่ ยากเกินไป เลยต้องหาวิธีที่ง่ายขึ้น )
เมื่อลองถ่ายดูนะครับ พบว่าน้ำหนักของกล้อง สบายดีครับ เบาดีเมื่อเทียบกับกล้องสมัยก่อนด้วยกัน อย่ามาเทียบกับสมัยนี้ครับ กลายเป็นหนักแน่นอน ตามสเปคบอกว่า 330 กรัม ส่วนขนาดนี้เล็กน่ารักมาก เทียบกับเจ้า Fuji X-M1 ของผม เจ้า Pen EE ยังเล็กกว่าเลย ถือว่าพกเฉยๆก็เก๋แล้ว ไม่เตะตาด้วยขนาด แต่เตะตาด้วยความสวย
วัสดุไม่ต้องพูดถึง เหล็กทั้งนั้น มีตัวไกขึ้นฟิล์มที่เป็นพลาสติกดูเปราะหน่อย เหมือนกล้องของเล่น แต่ก็ทำงานได้ดี ปุ่มชัตเตอร์เป็นสิ่งที่เราชอบมาก มันได้ feel ดีจริงๆ เสียงนุ่มเบา เคยอ่านเค้าบอกว่า คุณ Maitani ซีเรียสกับความนุ่มเพราะของชัตเตอร์มาก เพราะแกชอบ Leica มาตลอด เลยอยากทำกล้องที่ได้ feel ผู้ดีแบบนั้น
การใช้งานนั้นถือว่าเป็นกล้อง Point & Shoot รุ่นแรกๆของโลกจริงๆ ถ่ายง่ายที่สุดสำหรับเวลานั้น เน้นการถ่ายกลางแจ้งเป็นหลัก แต่เท่าที่ลองกับที่ร่ม เช่นในห้องอะไรแบบนี้ ก็ไม่เลว เคยลองปรับ F ที่ 3.5 แล้วถ่ายในห้องนอนที่แสงไฟส้มๆ ก็ใช้ได้นะ ชัดดีเลย แต่มืดๆนี่คงไม่รอด แต่เค้ามีระบบ Socket สำหรับเสียบ Flash มาให้นะ ซึ่ง..ยังไม่เคยลองนะ Flash ที่นิยมใช้ในยุคนั้นก็คือ Bulb Flash แบบใช้ได้หลอดละครั้ง ระเบิดปุ๊.. เปลี่ยนใหม่ เรามีอยู่ 2-3 หลอด แต่ไม่กล้าใช้ ฮาๆๆ
สิ่งที่พึงระวังเลยคือ Shutter Speed ที่มีแค่ 1/40 และ 1/200 sec แม้ว่าจะกลางแจ้ง ถ้าแสงไม่สว่างมากแล้ว กล้องจะตั้งที่ 1/40 sec ซึ่งโอกาสภาพไหวมีสูง โปรดมั่นใจว่ามือนิ่งแล้ว และอีกข้อนึงที่ต้องระวังคือเรื่องระยะ ระยะใกล้สุดที่กล้องจะถ่ายได้คือ 60 cm ต้องมั่นใจก่อนว่าสิ่งที่เราจะถ่ายอยู่ระยะไหน
สรุปจบท้ายคือ กล้อง Olympus Pen EE ถือเป็นกล้อง Snap ที่น่าใช้ตัวนึง เก่าที่สุดที่จะเอามาถ่ายได้สะดวกจริงๆ คือถ้าเก่ากว่านี้เกรงว่าจะ Snap ไม่ไหว เพราะกะเอาเองเยอะเกินไป เอาไว้สะสมจะเหมาะกว่า ฮาๆ ให้คะแนนสัก 7 เต็ม 10 นะ ในความสวย แข็งแรง และใช้ง่าย
เอาล่ะ ทีนี้ ถ้าอยากได้กล้องตัวนี้ เราขอแนะนำให้อ่านข้างล่างดังต่อไปนี้ เพื่อสังเกตว่า แต่ละ Edition ของเจ้า Pen EE มันแตกต่างกันอย่างไร ค่อนข้างเยอะนะ

Olympus Pen EE รุ่นแรก ปี 1961 (ตัวนี้จะหายากหน่อย เพราะผลิตแค่ปีเดียว)
ลักษณะภายนอกที่สังเกตได้คือ หุ้มด้วยหนังสีดำลายหยาบๆ ( เคยเห็นว่าบางตัวมีสีเทาด้วย แต่หนังจะเป็นลายหยาบๆเหมือนกัน ) เจ้าตัวนี้สเปคจริงๆของมันเลยคือ
– เลนส์ใช้ D.Zuiko 1:35 F=2.8cm
– ระยะถ่ายได้ใกล้สุด 60 cm
– F-Stop ตั้งแต่ 3.5 – 16 จะตั้ง Manual หรือ Auto ก็ได้
– Shutter Speed มีความเร็วเดียวเลยคือ 1/60 sec
– ASA หรือ ISO นั่นแหล่ะ 10 – 400 ซึ่งเราจะต้องตั้งเจ้าตัวนี้เป็นหลัก นอกนั้นมันจะ Auto ให้
Olympus Pen EE ปี 1962 – 66 เป็น Second Edition
ลักษณะภายนอกที่แตกต่างจากรุ่นแรกคือ หุ้มด้วยหนังสีเทาพื้นผิวลายเป็นจุดๆ (สำคัญที่พื้นผิวของหนังนี่แหล่ะ ที่จะใช้แยกแยะรุ่นได้) ส่ิงที่แตกต่างเรื่องสเปคก็คือ
– F-Stop ตั้งแต่ 3.5 – 22 ( ได้แคบขึ้นอีก 1 Stop ) จะตั้ง Manual หรือ Auto ก็ได้
– Shutter Speed มีความเร็ว 2 ความเร็ว คือ 1/40 หรือ 1/200 sec ซึ่งเป็นแบบ Auto

Olympus Pen EE S ปี 1962 – 66 ออกพร้อมกับ Second Edition
ลักษณะภายนอก เหมือนกับ EE Second Edition แต่ว่าจะมีตัวหนังสือ “S” สีแดงอยู่ที่ด้านหน้าซ้ายหน้าของกล้อง ส่วนสเปคที่แตกต่างก็คือ
– เลนส์ที่ใช้เป็น D-Zuiko 1:2.8 F=3cm
– F-Stop ตั้งแต่ 2.8 – 22 (ได้กว้างขึ้นอีก 1 Stop ) จะตั้ง Manual หรือ Auto ก็ได้

credit: Flickr ของ Denny Narciso
Olympus Pen EE (EL) และ EE S (EL) ปี 1966
ลักษณะภายนอกและสเปค เหมือนกับรุ่น EE และ EE S ทุกประการ แต่จะมีสติ๊กเกอร์ “EL” สีทองตัวหนังสือดำ ติดที่ด้านขวาของกล้อง ซึ่ง EL นั่นก็ย่อมาจาก Easy Load เพราะเจ้ารุ่นนี้ ตรงที่โหลดฟิล์มจะมีที่เสียบต้นฟิล์มให้ 6 รู จะโหลดง่ายขึ้นหน่อยนึง

credit: Flickr ของ Denny Narciso
Olympus Pen EE-2 ปี 1968
ลักษณะภายนอก จะใกล้เคียงกับ EE เลย มีหนังหุ้มด้านนอกมี 2 สีคือสีดำและสีเทา ( ซึ่งเราไม่ค่อยแน่ใจว่าสีไหนก่อนหลังหรือมีให้เลือกแต่แรกนะ ) มีชื่อรุ่น EE-2 ด้านบนกล้อง ส่วนสเปคที่เปลี่ยนไปคือ
– F-Stop ตั้งแต่ 3.5 – 22 จะตั้ง Manual หรือ Auto ก็ได้ ( เหมือนตัว EE )
– มี Hot Shoe สำหรับแฟลชอยู่บนตัวกล้อง
– ฝาใส่ฟิล์มเป็นแบบฝาหลังเปิดเหมือนกล้องฟิล์มสมัยใหม่แล้วครับ เดิมเค้าจะเป็นแบบแยกชิ้นออกมาทั้งดุ้นเลย
– ระบบนับรูปที่ถ่ายจะเป็นออโต้ reset เอง เมื่อเปิดและปิดฝาหลัง เดิมต้องตั้งเอง
** สเปคอื่นๆ เช่น เลนส์ก็จะเหมือนกับรุ่น EE
** มีรุ่นพิเศษที่ผลิตออกมาเป็นบอดี้สีทองด้วย

credit : http://commons.wikimedia.org
Olympus Pen EES-2 ปี 1968
ลักษณะภายนอก จะใกล้เคียงกับ EE-S เลย มีหนังหุ้มด้านนอกมี 2 สีคือสีดำและสีเทา ( ซึ่งเราไม่ค่อยแน่ใจว่าสีไหนก่อนหลังหรือมีให้เลือกแต่แรกนะ ) มีชื่อรุ่น EES-2 ด้านบนกล้อง ส่วนสเปคที่เปลี่ยนไปคือ
– การปรับระยะจะเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นเมตร เป็นสัญลักษณ์แทน คนเดียว คน2คน ถ่ายเป็นกรุ๊ป และ วิว
– ที่จุดปรับ F-Stop จะตั้งเป็น Auto จากตรงนี้
– มี Hot Shoe สำหรับแฟลชอยู่บนตัวกล้อง
– ฝาใส่ฟิล์มเป็นแบบฝาหลังเปิดเหมือนกล้องฟิล์มสมัยใหม่แล้วครับ เดิมเค้าจะเป็นแบบแยกชิ้นออกมาทั้งดุ้นเลย
– ระบบนับรูปที่ถ่ายจะเป็นออโต้ reset เอง เมื่อเปิดและปิดฝาหลัง เดิมต้องตั้งเอง
** สเปคอื่นๆ เช่น เลนส์ก็จะเหมือนกับรุ่น EE-S

credit : http://commons.wikimedia.org
Olympus Pen EE-3 ปี 1973
ลักษณะภายนอก เหมือนตัว EE-2 แต่มีหนังหุ้มด้านนอกเป็นสีดำ และด้านบนกล้องจะเขียนว่า EE-3 รวมถึงปุ่มชัตเตอร์จะเป็นสีดำ ตัวเลข Serial จะไปอยู่ด้านใต้กล้องแทน ส่วนสเปคก็จะเหมือนกับ EE-2 เลย ( ไม่รู้มันต่างกันตรงไหนเนี่ย.. )
** เพิ่มเติมเล็กน้อย จะมีรุ่นแปลกประหลาดอื่นๆบ้าง เช่น Olympus Pen Rapid EES ปี 1965 ที่ก็คือเหมือนรุ่น EES นั่นแหล่ะ แต่ใช้ระบบฟิล์ม Agfa Rapid ที่ตอนนั้น Agfa เค้าพยายามผลักดันให้แทนฟิล์ม 135 ทั่วไป เพราะมันไม่ต้องโหลด หน้าตาเป็นแพค แต่นอกนั้นสเปคเหมือนกันเด๊ะ แค่กล้องดูยาวๆกว่าปกติ และเขียนว่า Rapid เอาไว้ด้านหน้า
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่ควรรู้สำหรับใครที่อยากจะหา Olympus Pen EE มาครอบครองนะจ๊ะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านกัน ไว้วันหน้าจะพยายามเขียนรีวิวกล้องฟิล์มอื่นๆต่อไป 🙂
บทความ โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลย 🙂