อากาศร้อนๆของเดือนเมษานี่นอกจากจะไม่อยากออกจากบ้านแล้ว จะถ่ายรูปอะไรนี่ก็แสนยากเหลือเกิน ถ่ายยังไง๊ยังไงก็สวยยากสวยเย็น จะรอให้พระอาทิตย์ตกทีก็โน่น.. 6 โมงยังแดดจ้าเลย ที่บ่นนี่ไม่เกี่ยวอะไรกับบทความวันนี้เลย ฮ่าๆ … เอาถึงเรื่องวันนี้กันดีกว่า
สืบเนื่องจากการเสาะหากล้อง Rangefinder (กล้องที่โฟกัสแบบหมุนภาพให้ซ้อนกัน) ของ Olympus ในปลายยุค ’60s ยาวไปถึงกลางยุค ’70s ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่ Olympus เน้นผลิตกล้อง Full Frame แบบ Rangefinder อย่างมหาศาล เหลื่อมไปกับยุคกล้อง SLR ในตระกูล OM ไอ้เจ้ากล้อง Rangefinder ในยุคนี้เป็นยุคที่กล้องประเภท Half Frame ( ฟิล์ม 36 รูปม้วนนึงจะถ่ายได้ 72 รูป ) เริ่มเสื่อมความนิยม เพราะฟิล์มสีราคาถูก และกล้องก็พัฒนาให้มีขนาดเล็กลงแล้ว คนก็หันมาเน้นคุณภาพของภาพที่ได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า Rangefinder ของ Olympus ไม่ทำให้แฟนๆผิดหวังแน่นอน
เราเริ่มสนใจซีรีย์ Olympus 35 ซึ่งเป็นกล้อง Rangefinder นี่แหล่ะ เพราะชอบหน้าตามัน หล่อจริงจัง แถมนักสะสมก็ชื่นชมกันเหลือเกิน จริงๆแล้วเราไม่ถนัดกล้อง Rangefinder หรอก แต่พอมีข้อมูลเยอะๆ ของมันขึ้น เลยต้องไปหาซะหน่อย ก็ลองไปๆอยู่หลายรุ่น คือรุ่นมันก็เยอะมากๆๆๆ จนคนงงว่าชื่อรุ่นมันอะไรจะคล้ายกันขนาดนั้น เช่น 35 SP , 35 UC , 35 LC , 35 RD , RC , DC และอื่นๆ…
ว่ากันว่า คุณฝรั่งโปรๆทั้งหลายที่เป็นสุดยอดกล้อง Rangefinder ในหลายๆรุ่น Review ให้บางรุ่นถึงกับเทียบชั้นกับกล้อง Leica ระดับไฮเอนเลยทีเดียว
วันนี้เราคงไม่เล่าทั้งหมดของซีรีย์นี้นะ เพราะคงยาวมากกก แต่ขอดึงเอาสุดยอดตัว Top ของซีรีย์นี้ 3 รุ่น ออกมาเผชิญหน้ากันหน่อย เทียบกันไปเลยสำหรับคนที่อยากเล่นซีรีย์นี้ จะได้ตัดสินใจกันถูก
3 รุ่น ผู้เข้าชิงคือ ( เรียงตามความอาวุโส )
Olympus 35 SP มีดีกรี เป็นกล้อง Rangefinder ที่ดีที่สุดตั้งแต่ Olympus เคยผลิตมา!!
Olympus 35 RC มีดีกรี เป็นกล้อง Rangefinder แบบ Manual ที่ขนาดเล็กที่สุดในโลก!
Olympus 35 RD มีดีกรี เป็นกล้อง Rangefinder แบบ Manual ที่เล็ก แรง และหายากที่สุดในซีรีย์!
เอาล่ะ.. มาดูกันหน่อยว่าแต่ละตัวนั้น ข้อดีข้อเสีย แตกต่างกันยังไงบ้าง? เราจับเอา 3 ตัวนี้มาใส่ฟิล์ม Kodak Color Plus 200 เพื่อความเท่าเทียมกัน
1.Olympus 35 SP ปี 1969
เจ้ากล้องตัวนี้ถือเป็นกล้องที่นักเล่นกล้องฟิล์มหมายตา เพราะเป็นกล้องที่ลงตัวด้วยการที่ Olympus ยัดเอาสุดยอดของตัวเองลงมาในกล้องตัวนี้ เจ้า 35 SP นั้นถูกพัฒนาต่อมาจาก 35 LC ปี 1967 ซึ่งเป็นต้นตระกูล สิ่งที่คุณจะได้รับคือ
- โคตรเลนส์ G.Zuiko 42mm F1.7 ชิ้นเลนส์ 7 ชิ้น เลนส์ระดับนี้เรียกว่าหาไม่ได้ง่ายๆในกล้องขนาดพกพา
- กล้องที่มีระบบ AE Program คือกล้องจัดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เองหมดเลย หรือเลือกเป็น Shutter Priority เราเป็นคนเลือกความเร็วชัตเตอร์เองแล้วกล้องจัดรูรับแสงให้เองก็ได้ หรือ… Manual เองหมดเลย
- รูรับแสง 1.7 , 2.8 , 4 , 5.6 , 8 , 11 , 16 และความเร็วชัตเตอร์ B , 1 , 1/2 , 1/4 , 1/8 , 1/15 , 1/30 , 1/60 , 1/125 , 1/250 , 1/500
- การวัดแสงแสดงเป็นค่า EV เช่นในกล้องบอกว่า EV 11 เราก็มาปรับที่รูรับแสงกับความเร็วชัตเตอร์ เท่าไหร่ก็ได้ แต่ให้สัมพันธ์ที่หน้าเลนส์แสดงค่าเป็น EV 11 ตรงกับที่วัด ซึ่งการใช้แบบนี้ทำให้วัดแสงใช้ได้ทุกโหมด ไม่ว่ากล้องจะอยู่ในโหมด Manual หรือ Auto ซึ่งปกติรุ่นอื่นๆ จะต้องอยู่ในโหมด Auto เท่านั้น
- เพิ่มระบบวัดแสง Spot Meter คือวัดเฉพาะจุดได้ สำคัญยังไง? ปกติกล้องจะวัดเป็นค่าเฉลี่ย ถ้าเรายืนย้อนแสง กล้องปกติจะวัดแสงที่รวมๆ ไม่ได้วัดคน เวลาถ่ายคนก็จะมืด แต่เมื่อเราเลือกใช้ Spot Meter กล้องจะวัดเฉพาะที่คนได้ ทำให้ถ่ายที่คนได้แสงที่ถูกต้องกว่า เป็นต้น ซึ่งวัดแสงแบบนี้หาไม่ได้แม้แต่ในกล้องแพงๆ หลายๆตัว
ทั้งหมดที่ว่านี้ เรียกว่าเป็นจุดแข็งของกล้องตัวนี้เลย น่าสนใจพอมั๊ยล่ะ.. เอาล่ะ ลองมาใช้งานจริงกันหน่อย.. เราควานหากล้องตัวนี้มาได้ 3 ตัวแบบลากเลือด คือเราหาสภาพใหม่ๆดีๆเท่านั้นนะ เพราะถ้าเจอสภาพย่อยยับนี่ เราจะเอามาวัดความสามารถที่แท้จริงของกล้องไม่ได้เลย ตัวแรกที่เราได้มาเป็นสีดำซะด้วย!! (เจ้านี่ตัวสีหลักๆก็คือสีเงินนั่นแหล่ะ แต่เค้าผลิตรุ่นสีดำมาด้วย) สภาพกล้องถือว่า 90% ถือว่าผ่านเกณฑ์ ทุกอย่างอยู่ในสภาพใหม่กิ๊งๆ ไม่มีอะไรเสียหายเลย ก็เอามาเริ่มรีวิวได้เลย
สัมผัสแรก
เจ้านี่มีขนาดใหญ่ที่สุดในซีรีย์ ถ้าคนชอบตัวเล็กๆนี่ก็ผ่านได้เลย แต่ถ้าให้เทียบกับ Rangefinder ของยี่ห้ออื่นแล้ว เจ้านี่ถือว่าเล็กกว่า จะไปเทียบกับ Yashica Electro 35 ทั้งหลาย หรือ Minolta Hi-Matic 7 หรือ 9 เจ้านี่ก็เล็กกว่าพอสมควร เรื่องหน้าตานี่ก็ไม่ต้องพูดถึง.. หล่อมากก.. ดูรูปเอาเองนะ
นำ้หนักถือว่าพอรับได้ 600 กรัม เป็นขนาดพอๆกับที่เราแบกรับ Olympus Pen F อยู่ คือส่วนตัวเราชอบกล้องที่มีขนาดเล็กๆเบาๆ ซึ่งขนาดของ 35 SP เราไม่ได้ชอบมาก แต่ถือว่าสุดเขตของการรับได้ของเรา จะพกใส่กระเป๋านี่ไม่ได้ แต่แขวนก็ไม่หนักและไม่เกะกะ
เริ่มต้นทดสอบ
เราเริ่มทดสอบโหมด AE ก่อนเลย เพื่อดูว่ากล้องทำงานคำนวณได้ดีแค่ไหน โดยที่เราคอยสังเกตการวัดแสงเป็นค่า EV ไปด้วย การถ่ายด้วยโหมด AE นี่เราไม่ต้องทำอะไรเลย โฟกัสแล้วถ่ายอย่างเดียว กล้องมีข้อจำกัดว่า ถึงสเปคกล้องจะยืดหยุ่นได้ต่ำสุดที่ F1.7 ต่อความเร็วชัตเตอร์ 1 sec และสูงสุดที่ F22 ต่อความเร็วชัตเตอร์ 1/500 sec แต่ในโหมด AE นี้ กล้องจะทำได้ต่ำสุดแค่ F1.7 ต่อความเร็วชัตเตอร์ 1/15 sec และสูงสุดที่ F22 ต่อความเร็วชัตเตอร์ 1/250 sec เท่านั้น
หลังจากที่เราลองถ่ายหมดม้วนไป ปรากฏว่า การคำนวณแบบ AE ของกล้อง เราไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ เพราะการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงกับความเร็วชัตเตอร์ มันไม่ค่อยเวิร์ค เทียบกับตอนที่ใช้ Olympus 35 DC ( อ่านรีวิวย้อนหลังได้ ) แล้ว เราว่าตัวนั้นทำได้ดีกว่านะ ไม่แน่ใจว่าเป็นที่กล้อง หรือเป็นที่คนถ่าย ฮาๆๆ
ภาพที่ได้ส่วนใหญ่ของเราค่อนข้างไหวๆ พลาดเยอะ โดยเฉพาะในที่ร่ม เทียบกับการปรับในโหมด Shutter Priority คือตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้เลย 1/125 หรือ 1/250 sec ยังไงก็ได้ภาพไม่สั่นแน่ๆ ทำให้การใช้โหมด AE ของเราเข็ดขยาดไปเลย คงไม่ได้ใช้บริการนี้อีก
แต่สำหรับใครที่ถ่ายกลางแจ้งมากๆ ก็น่าจะโอเคนะครับ ไม่น่าผิดพลาด แต่เราค่อยข้างใช้งานแบบกึ่งๆที่ร่มๆ อันนี้ก็เสี่ยง ควรใช้โหมด Shutter Priority มากกว่า สบายใจ
ด้วยระยะเลนส์ 42mm เทียบกับตอนใช้ Olympus 35 DC ( ซึ่งเป็นเลนส์ตัวเดียวกับ 35 RD ) เป็นระยะ 40mm อาจจะดูว่าแตกต่างกันนิดเดียวนะ แต่เราว่าระยะ 42mm เราชอบมากกว่านะ แต่ก็ไม่ถึงกับต่างกันฟ้ากับเหว ค่อนข้างระยะ Normal มากแล้วล่ะ ไม่ได้ดู Wide อะไรเลย ภาพที่ได้ออกมา ก็ถือว่าสุดยอดเลนส์ตามนั้น ไม่ผิดหวัง คมกริ๊บบบ…
เรื่องการโฟกัสนี่ไม่ต้องห่วง เราว่าในบรรดา 3 ตัวที่ลองเทสนี้ SP โฟกัสสบายสุด เพราะวงมันใหญ่และมีก้านช่วยโฟกัสด้วย เอามือผ่านๆไปก็เจอ ระยะตั้งแต่ 0.85 เมตร ถึง infinity ส่วนการปรับระบบต่างๆ เช่น รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ปรับให้เป็น Manual , Auto ต่างๆ ถือว่าสะดวกดี หมุนง่าย เพราะอยู่ด้านหน้าหมด แต่ตอนแรก เห็นปุ๊ป.. มึนนะ ยังกะวงล้อใบ้หวย เลขหยุบหยับเลย ใช้เวลาทำความเข้าใจสักพัก ก็เป็นอันไม่งง
มาถึงจุดเด่นเรื่อง Spot Meter วัดแสงเฉพาะจุด ( ซึ่งชื่อรุ่น ก็มาจากไอ้จุดเด่นนี้แหล่ะ ) วิธีใช้ก็คือ กดปุ่มค้างไว้ แล้วกดชัตเตอร์ โห.. มาท่ายากอีกและ.. แบบเดียวกับที่เจอ BLC ของ Olympus 35 DC เลย ( ย้อนกลับไปอ่านรีวิว Olympus 35 DC ) คือเหมือนกดสูตรเกมสมัยก่อนน่ะ.. แต่ก็ไม่ถึงกับทำไม่ได้หรอก เค้าคงคิดมาแล้วล่ะนะ พอกดเจ้าปุ่ม Spot Meter ปุ๊ป สังเกตที่วัดแสงเลยว่าค่า EV จะเปลี่ยนไป ถ้าเห็นง่ายๆนะ อย่างเราถ่ายรูปนี้ ที่ตัวคนก็จะ Under กว่า 1 Stop เป็นต้น
ชัตเตอร์น้ำหนักดี อาจจะเสียงดังกว่าอีก 2 ตัวที่เอามาเทียบ แม้ว่าจะเป็น Leaf Shutter ก็ตาม แต่ก็ไม่เกินเลยไป กำลังเท่ๆ แน่ๆ ไม่ลึกกดยากจน Lag เอาได้
สรุปเลย
ข้อดี
- ซุปเปอร์สเปคขนาดนี้ อยู่ในกล้องขนาดตัวเท่านี้ นี่น้องๆ Leica เลยนะ
- หล่อ
- ช่องมองภาพกว้างขวางสบายตา
- การวัดแสงค่า EV มันเลอเลิศมาก เพราะมันจะใช้ได้ในทุกโหมด แม้แต่ Manual (ยี่ห้ออื่น รุ่นอื่นมักทำไม่ได้)
- มีความเร็วชัตเตอร์ให้เลือกอย่างละเอียดอ่ะ โปรมาก
- ไม่มีถ่าน ก็ใช้งานได้ ใช้ระบบ Manual เอา
ข้อเสีย
- มันใหญ่ แม้จะไม่ใหญ่เท่ากล้องอย่าง Yashica Electro 35 แต่ก็ใหญ่…
- แม้ว่าจะมีโหมด AE Program เป็นที่เชิดหน้าชูตาอย่างนึง แต่เราไม่ค่อยประทับใจกับผลเท่าไหร่
- เวลาใช้โหมดออโต้ทั้งหลาย เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า กล้องจัดรูรับแสงเท่าไหร่ให้เรา ในช่องมองภาพบอกแต่ค่า EV อย่างเดียว
Olympus 35 RC ปี 1970
จริงๆตัวนี้เป็นตัวแรกใน 3 ตัวนี้ที่เราเทส เราควานหาเจ้านี่ด้วยเพราะจุดเด่นที่ว่า มันคือกล้อง Rangefinder ที่ปรับ Manual ได้ที่ขนาดเล็กที่สุดในโลก! โอ่ว.. กล้อง Full Frame ที่เค้าว่าเล็กๆอย่าง Rollei 35 ถึงจะเล็กกว่าจริง แต่ไม่ใช่กล้อง Rangefinder นะ เป็นแบบกะระยะอยู่ดี ส่วน Olympus XA ซึ่งถือว่าเป็นกล้อง Rangefinder ที่เล็กที่สุดจริงๆ แต่ก็ไม่สามารถถ่ายแบบ Manaul ทั้งหมดได้ สิ่งที่คุณจะได้จากเจ้านี่คือ
- เลนส์ E.Zuiko 42mm F2.8 ชิ้นเลนส์ 5 ชิ้น คิดว่าน่าจะเป็นข้อจำกัดที่ต้องอยู่ในกล้องขนาดเล็กขนาดนี้ จึงได้สเปคเลนส์แบบนี้ ซึ่งไม่ได้ขี้เหล่นะ ในเวบ kenrockwell.com ถึงกับรีวิวไว้ว่า เลนส์คมกริบพอกับเลนส์ Leica 35mm ราคา $4,200 เลยทีเดียว โอ่วว..
- กล้องสามารถใช้ระบบ Shutter Priority คือเราตั้งความเร็วชัตเตอร์เองและกล้องจะจัดรูรับแสงให้เอง หรือ Manual ได้เลย โดยมี รูรับแสงให้เลือก 2.8 , 4 , 5.6 , 8 , 11 , 16 , 22 และความเร็วชัตเตอร์ B , 15 , 30 , 60 , 125 , 250 , 500
ความได้เปรียบเรื่องขนาด ถือว่าเป็นจุดดึงดูดมากๆ ส่วนตัวเราเป็นคนที่ชอบกล้องเล็กๆ พกสะดวก แต่ใจก็อยากได้กล้องที่ถ่าย Manual ได้ด้วย เพราะฉะนั้น ตัวนี้เลยตรงใจมากๆ เจ้า 35 RC นี่ถือเป็นกล้องหายากในระดับต้นๆเหมือนกันนะ (แม้จะไม่เท่าอีก 2 ตัวที่หายากระดับท็อปๆของ Olympus) ยิ่งจะหาสภาพดีๆนี่ก็ยิ่งยากใหญ่ เราได้เจ้านี่มาในสภาพสัก 92 % (มีแถม 2% ด้วย) เรียกว่าพร้อมใช้งานได้เลย
ประเด็นตอนแรก เราหาเจ้านี่มาเพื่อใช้เองนี่แหล่ะนะ เดิมทีใช้ Olympus Pen D เป็นกล้อง Half Frame ที่ปรับ Manual ได้หมดเหมือนกัน เลยจะหาตัวเล็กๆพอกัน แต่เป็น Full Frame มาใช้บ้าง พอได้มาต้องยอมรับว่าถูกใจหน้าตาและขนาดมาก ด้วยน้ำหนัก 410 กรัม เยี่ยมยอดมาก พกใส่กระเป๋าสะพายสบายๆ ฟินสุดๆ ขนาดเลนส์ก็เล็กดี ถูกใจไปหมด
เริ่มต้นทดสอบ
เราเริ่มต้นโหมด Shutter Priority ก่อนเลย ซึ่งการปรับความเร็วชัตเตอร์นี่จะมีที่หมุนอยู่ด้านบนกล้อง เป็นจุดที่ค่อนข้างสะดวกนะ เพราะในเมื่อกล้องเล็กมาก จะให้ไปอยู่ที่เลนส์ด้านหน้าอีกก็ไม่ไหว มาอยู่ตรงนี้สบายดี การใช้งานก็แค่เลือกความเร็วชัตเตอร์แล้วกล้องจะจัดรูรับแสงให้ ซึ่งเราจะสามารถดูได้จากที่ช่องมองภาพ ด้านในจะโชว์หมดเลยว่า ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ และกล้องเลือกรูรับแสงเท่าไหร่ให้เรา เป็นข้อดีของเจ้านี่
ในเวลาที่แสงไม่พอ เจ้าเข็มที่บอกรูรับแสงเท่าไหร่นี่ จะไปอยู่ในโซนแดงแปลว่า แสงน้อยเกินจะถ่ายได้ และจะล็อคชัตเตอร์เรา ไม่ให้กดได้ ไอ้นี่แหล่ะ… ที่เราเกลียดลองนึกสภาพ จะถ่ายรูปเพื่อน “เอ้า ยิ้มนะ.. 1 2 … “ กดไม่ติด.. เงิบเลย ด้วยความที่กล้องมีรูรับแสงกว้างสุดที่ F2.8 และความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่ 1/15 sec ทำให้มีโอกาสจะถ่ายที่แสงน้อยไม่ค่อยได้ เป็นไปได้เยอะทีเดียว เป็นจุดอ่อนมากของกล้องตัวนี้

สำหรับในโหมด Manual นั้น ก็มีข้อเสียอีกเช่นกัน หลักๆเลยคือ.. ระบบวัดแสงไม่ทำงานในโหมดนี้! อ้าวว… ปกติแล้วกล้องลักษณะใกล้เคียงกันนี้ ประสบปัญหาเดียวกันแทบทั้งหมด ( ยกเว้นเจ้า 35 SP ที่ทดสอบไป ) กล้องพวกนี้ ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยทำ Manual กันเท่าไหร่นะ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออก ทางออกแรกคือ ถ้าเราเป็นมนุษย์กล้องที่จำกฎ Sunny 16 ได้เป็นอย่างดี ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการวัดแสงเท่าไหร่ หรืออีกทางนึงก็คือ หมุนไปที่โหมด Auto ซะก่อน เพื่อดูว่าแสงตอนนี้ค่ารูรับแสงเป็นเท่าไหร่ จากนั้น เราก็หมุนเลือกรูรับแสงเอาเอง ก็พอถูไถกันไป ถือว่าใช้ได้
แต่… ก็ดันเจอข้อเสียเล็กๆน้อยๆให้หงุดหงิดอีกเช่นกัน คือ ที่ปรับรูรับแสงนี่ เป็นวงแหวนด้านหน้าที่ติดกับตัวกล้องมากๆ แถมแคบอีก เวลาจะหมุนอย่าเรียกว่าเอามือหมุนเลย เรียกว่าเอาเล็บหยิกจะถูกกว่า มือควายๆอย่างเราก็เรียกว่าแสนจะลำบากมากทีเดียว เฮ้อ..
ที่เล่ามานี่เหมือนจะมีแต่ข้อเสียนะ.. แต่เปล่าเลย.. เพราะสิ่งที่คุณจะได้รับจากเจ้ากล้องตัวนี้ มันคุ้มค่ามาก กับภาพสุดแสนจะคม สีสันจัดจ้าน งดงาม อเมซซิ่งมากๆ ลืมข้อลำบากระหว่างการถ่ายไปทั้งหมดเลยทีเดียว
ถ้าเกิดเคยใช้กล้องเล็กๆทั้งหลายนะ ไม่ว่าจะ Rollei 35 เอง หรือ Olympus XA เองก็เถอะ ยิ่งเจ้า Rollei 35 นี่นะ จะบอกว่า มันติดปัญหาคล้ายๆกัน ด้วยความที่มันเล็กมาก แล้วยัดอะไรเข้าไปเยอะแยะ Function ขนาดนี้ ก็ทำให้มีพื้นที่ในการใช้งานลำบากแน่นอน เจ้า 35 RC นี่ถือว่าดีกว่าแล้วล่ะ
ระยะเลนส์ 42mm นี่เหมือนกับเจ้า 35 SP เลย ระยะเดียวกัน การโฟกัสนี่ไม่มีปัญหา แม้ว่าจะเลนส์มีขนาดเล็ก ก็หยิบจับได้ง่าย คล่องมือดี ระยะตั้งแต่ 0.85 เมตร ถึง infinity เกลียดแต่ไอ้วงล้อปรับรูรับแสงนั่นแหล่ะ..
ช่องมองภาพนะ ถึงแม้จะตัวเล็ก ช่องมองภาพเล็กกว่าตัวอื่น แต่ก็กว้างเพียงพอ ไม่อึดอัดเกินไป ตัวภาพซ้อนก็เห็นชัดดี
น้ำหนักชัตเตอร์เบาสบาย ตัวเล็กขนาดนี้ Leaf Shutter ด้วย เบาสบาย ไม่ลึกเกินไป ตามมาตรฐาน Olympus
สรุปเลย
ข้อดี
- ตัวเล็กดีมาก น้ำหนักดี หน้าตาหล่อ ด้วยสเปคนี้ เลนส์คมขนาดนี้ เยี่ยมไปเลย
- มีทั้ง Shutter Priority และ Manual ให้เลือกสรร
- มี “Off” สำหรับปิดระบบวัดแสง เมื่อไม่ได้ใช้งาน ช่วยประหยัดถ่าน
- ในช่องมองภาพ วัดแสงบอกค่าความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงครบเลย ตัวอื่นมักมีอย่างใดอย่างหนึ่ง
- การวางตำแหน่งไกขึ้นฟิล์ม อยู่ด้านหลัง รู้สึกดีมาก แถมเป็นเหล็กทั้งดุ้น รวมถึงตำแหน่งความเร็วชัตเตอร์ที่อยู่ด้านบนด้วย
- ถ้าไม่มีถ่าน ก็ถ่ายได้ ใช้ระบบ Manual เอา เจ๋งไปเลย
- วัสดุดีเลิศ แข็งแรงทนทาน
ข้อเสีย
- เกลียดตำแหน่งที่ปรับรูรับแสงมาก ไม่สะดวกสุดๆ
- ความเร็วชัตเตอร์ให้มาต่ำสุดแค่ 1/15 sec ไม่เพียงพอสำหรับเรา ต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ฟิล์ม ISO 400
- ระบบล็อคชัตเตอร์เวลาอยู่ในโหมด Shutter Priority มันขัดใจมากจริงๆ
Olympus 35 RD ปี 1975
ในบรรดาซีรีย์ 35 ของ Olympus ทั้งหมด เจ้า 35 RD ถือว่าเป็นตัวที่หายากและราคาดีที่สุด ถ้าในสภาพที่ดีนะ มันจะราคาสูงกว่าเจ้า 35 SP ด้วยซ้ำไป และยังถือเป็นกล้องตัวสุดท้ายของซีรีย์ 35 ที่ Olympus ผลิตออกมาอีกด้วย
ด้วยการพัฒนาของ Olympus มาตลอดนับ 10 ปีของซีรีย์นี้ เจ้า 35 RD เป็นตัวที่นำเอา Olympus 35 DC เมื่อปี 1971 กล้อง Rangefinder ขนาดพกพาแต่ใส่เลนส์ระดับ F.Zuiko 1.7 40mm เอาไว้อย่างลงตัว เอาพัฒนาต่อ เพราะเจ้า 35 DC เป็นระบบ AE คือปรับโฟกัสแล้วถ่ายเลย ไม่มีการปรับอะไรได้เอง ( อ่านรีวิว Olympus 35 DC ย้อนหลังได้ ) มาเพิ่มระบบ Manual ลงไปจนเจ้า Olympus 35 RD กลายเป็นกล้องที่สเปคแรง ตัวเล็ก หน้าตาดี
- เลนส์ F.Zuiko 40mm F1.7 เลนส์ 6 ชิ้น อาจจะไม่เท่าเจ้า 35 SP แต่ก็น้องๆล่ะนะ ( ฝรั่งบางคนออกแนวเหยียดว่าคนละชั้น แต่เราว่ามันก็ไม่ขนาดนั้น )
- กล้องเป็นระบบ Shutter Priority เราเลือกความเร็วชัตเตอร์เอง กล้องเลือกรูรับแสงให้ และระบบ Manual เองเลย มีรูรับแสง 1.7 , 2 , 2.8 , 4 , 5.6 , 8 , 11 , 16 ความเร็วชัตเตอร์ B , 1/2 , 1/4 , 1/8 , 1/15 , 1/30 , 1/60 , 1/125 , 1/250 , 1/500 เทพมากๆ น้องๆ 35 SP เลย
ด้วยขนาดระดับกลางระหว่าง 35 SP และ 35 RC รวมไปถึงสเปคด้วย ก็เป็นทางเลือกสำหรับคนรักพี่เสียดายน้อง มาเจอกันตรงกลางพอดี ขนาดอาจจะใหญ่กว่า 35 RC เล็กน้อย (หนักๆคือเรื่องเลนส์ที่ใหญ่กว่ามาก) แต่สเปคก็ใกล้ๆไปทาง 35 SP อาจจะไม่เท่าเทียม แต่ก็ใกล้เคียง เลยกลายเป็นทำให้ตลาดต้องการเจ้าตัวนี้ ซึ่งก็หาไม่ง่ายเลย แถมส่วนใหญ่จะมีปัญหาซึ่งถือว่าเป็นโรคประจำตัวของเจ้านี่เลยคือที่ระบบชัตเตอร์ ต้องเช็คดีๆว่ามีปัญหาและได้รับการแก้ไขหรือยัง ส่วนตัวที่เราได้มานี่ สภาพ 95% เลยนะ โชคดีมาก ไม่มีอาการของชัตเตอร์ ติดที่ช่องมองภาพที่ต้องส่งล้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่มีปัญหา ใหม่กิ๊งมาก
ตัวนี้เราบังเอิญได้มาฟลุ้คๆนิดหน่อย อยากจะลองดูเหมือนกันว่า ใช้แล้วจะชอบมากกว่า 35 RC หรือเปล่า ( ที่ติดใจเรื่องถ่ายในที่มืดค่อนข้างมีปัญหา ต้องใช้ฟิล์ม ISO 400 ตลอด ) ซึ่งพอได้มา ก็ยังถูกใจขนาด 35 RC มากกว่านะ เจ้า 35 RD มันกลางๆ น้ำหนัก 490 กรัม คือถ้าไม่เคยจับ 35 RC มาก่อน ก็คงโอเคเลยล่ะ แต่พอเจอเล็กกว่าไปแล้ว มันก็รู้สึกเฉยๆไป แต่ก็ถือว่าถนัดมือดีเลยล่ะ
เริ่มต้นทดสอบ
จริงๆตัวนี้เราจับมันถ่าย ช้อตต่อช้อตกับ Olympus 35 SP เลยนะ เอาแบบเทียบกันจะๆ เราใช้โหมด Shutter Priority เป็นตัวทดสอบ ซึ่งก็ใช้งานเหมือนกับตัว 35 RC เด๊ะๆ ทำงานโหมดนี้ได้ดีเช่นกัน ต่างกันนิดหน่อยตรงในช่องมองภาพของ 35 RD จะไม่ได้มีบอกว่าใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่อยู่ ซึ่งไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่
ระยะเลนส์ของ 35 RD จะแตกต่างกับ 35 SP และ 35 RC เล็กน้อย เพราะใช้ระยะ 40mm แทน ซึ่งบางคนจะชอบ เพราะมัน Wide กว่านิดนึง (แต่เราว่ามันไม่เห็นต่างเท่าไหร่ จะรู้สึกก็ในช่องมองภาพที่เราว่า 42mm ถนัดกว่า) ส่วนความคม เราว่าส่วนตัวเราแยกไม่ออกเลยนะ ระหว่าง 35 SP กับ 35 RD พยายามทดสอบให้เห็นชัดๆแล้ว
ระบบส่วนใหญ่ ไม่ต่างกับ 35 RC เลย เพียงแต่พอเป็นเลนส์รูรับแสงกว้าง 1.7 และความเร็วชัตเตอร์ที่ได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินถึง 1/2 sec ก็ไม่ต้องกลัวสภาพแสงน้อยอีกเลย ถึงเจ้านี่จะมีระบบล็อคชัตเตอร์เมื่อแสงไม่พอเหมือน 35 RC ก็ตาม
มาถึงระบบ Manual ตัวนี้ย้ายการปรับความเร็วชัตเตอร์มาอยู่ด้านหน้าเลนส์เหมือน 35 SP แล้ว ซึ่งก็เหมาะกับตัวมันที่เลนส์ตัวใหญ่ หมุนได้สะดวกดี แต่..ปัญหาเดิมของการปรับรูรับแสงที่ติดกับตัวกล้อง ยังมีอยู่ เหมือนกับ 35 RC เด๊ะ…คือต้องเล็บหยิกเอา เฮ้ย.. อึดอัดมาก ลำบากนะนั่น… ดีกว่านิดนึงที่เลนส์มันใหญ่กว่า 35 RC หน่อย
และเช่นกัน ในโหมด Manual ไม่มีการวัดแสงให้นะจ้าา.. จะวัดก็ต้องใช้ดัดแปลงแบบที่ทำกับ 35 RC นั่นแหล่ะ คือต้องบิดไปที่โหมด Auto ก่อน ลองกดชัตเตอร์หยั่งๆเพื่อวัดว่าใช้ F-Stop เท่าไหร่ แล้วค่อยบิด Manual เอง พูดตรงๆคือ ถ้าชอบการใช้ Manual นะ เราว่า Olympus 35 SP ดีที่สุด การอ่านค่า EV มันสะดวกกว่าเห็นๆ แต่ก็ใช่ว่าจะลำบากขนาดนั้น
ระยะเลนส์ 40mm ไม่กว้างไม่แคบนะ ไม่ได้ต่างกับ 42mm เท่าไหร่ เลนส์ใหญ่พอๆกับ 35 SP ก็จับได้ถนัดมือ ไม่มีปัญหา ระยะโฟกัส 0.85 เมตร ถึง Infinity เหมือนกัน
ช่องมองภาพ สบายตากำลังดีเลย แต่มุมก็มุมเดียวกับ 35 DC ที่เราเคยใช้เด๊ะๆ ถ้าใครเคยใช้ 35 DC มันก็เหมือนกันแทบทุกอย่างแหล่ะ แต่มันมี Manual ด้วย
ชัตเตอร์ของเจ้านี่ น่าประทับใจที่สุด คือทั้งเบาที่สุด และน้ำหนักด ประทับใจ
สรุปเลย
ข้อดี
- เลนส์เทพ ขนาดกะทัดรัด มีไม่กี่ตัวในตลาดหรอก ที่จะมาเทียบชั้นได้
- มีทั้ง Shutter Priority และ Manual ให้เลือก
- ตัวเท่านี้แต่ความเร็วชัตเตอร์ให้มาอย่างละเอียดอ่ะ เพียงพอสำหรับทุกอย่าง
- ชัตเตอร์เบามาก
- ถ้าไม่มีถ่าน ก็ถ่ายได้ ใช้ระบบ Manual เอา เจ๋งไปเลย
ข้อเสีย
- เกลียดตำแหน่งที่ปรับรูรับแสงมาก ไม่สะดวกสุดๆ
- วัสดุเทียบกับ 2 ตัวแรก เราว่าไอ้นี่ดูเปราะกว่า เพราะมันคงมีส่วนที่เป็นพลาสติกเยอะกว่า
- ปัญหาระบบชัตเตอร์ ต้องดูดีๆเลย ว่ามีปัญหาหรือเปล่า
- แพงกว่าเพื่อน….
เอาล่ะ.. เทสกันครบครันแล้ว หวังว่าใครที่กำลังมองหาสุดยอดซีรีย์ 35 ของ Olympus ไว้สักตัว จะตัดสินใจได้ว่าเหมาะกับตัวไหนนะ ส่วนเรา.. เหมาหมด ฮาๆๆ ขอบคุณที่ติดตามอ่านเช่นเคย
บทความ โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

ข้อมูลราคากลางในตลาด เดือนเมษายน 2557
Olympus 35 SP ราคากลาง สีเงิน 7,000 บาท ขึ้นไป แล้วแต่สภาพ // สีดำ 10,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่สภาพ
Olympus 35 RC ราคากลาง 4,500 บาท ขึ้นไป แล้วแต่สภาพ
Olympus 35 RD ราคากลาง 8,000 บาท ขึ้นไป แล้วแต่สภาพ ** โปรดระวังปัญหาสุขภาพชัตเตอร์เจ้านี่ **
ข้อมูลเพิ่มเติม
Olympus 35 SP และ RD ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 49 mm
Olympus 35 RC ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 43.5 mm ( หายาก ส่วนใหญ่จะเป็นของเก่า )
ทุกตัวใช้ถ่าย PX625 ขนาด 1.35 V ซึ่งพอหาได้บ้างตามร้านขายกล้องเก่า แต่ถ้าไม่มี ใช้ LR44 ยัดเอาได้ ( อ่านบล็อกดัดแปลงถ่านใหม่ให้ใช้กับกล้องเก่า )
2 Comments Add yours