เห็นฮิตกันจั๊งงงเลยย จนตั้งใจไว้นานมากแล้วที่จะจับเจ้า Minolta Hi-Matic F มารีวิว ซึ่งเราก็ผ่านมือไปมาหลายตัวแล้วนะ ซื้อมาขายไปๆ แต่ยังไม่เคยเอามาทดสอบจริงจังสักที แต่รีวิวเฉยๆมันก็ธรรมดาไป เลยกะว่าจะหากล้องที่พอฟัดพอเหวี่ยงในยุคสมัยเดียวกัน สเปคไล่ๆกันมาท้าชนสักหน่อย เดิมทีเคยกะจะเอาเจ้า Olympus 35 DC (อ่านรีวิวย้อนหลัง) มาเทียบตั้งแต่ตอนที่เคยรีวิวไปครั้งก่อน แต่คิดว่าไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่ เพราะเจ้านั่นสเปคค่อนข้างสูงกว่า เลยคิดว่าต้องหากล้องที่ขนาดพอๆกัน ใช้เลนส์ระดับใกล้ๆกัน ก็เล็งอยู่นานล่ะ.. มองไปมองมาก็คิดว่า Olympus 35 RC เจ้า Rangefinder จิ๋ว นี่แหล่ะ..น่าจะสูสีกันหน่อย ซึ่งครั้งที่แล้ว เราได้เคยรีวิวเทียบกับรุ่นใหญ่ๆของ Olympus ด้วยกันเอาไว้
ก่อนอื่นเลย… การรีวิวเวอร์ชั่นดวลหมัดนี่ เราต้องเซ็ตกติกากันนิดนึงก่อน เพราะอาจจะมีความเสียเปรียบได้เปรียบกันบ้าง เนื่องจากฟังก์ชั่นหรือสเปคบางอย่างของกล้องก็ไม่ได้ตรงเป๊ะกันเลยทีเดียว มีเหลื่อมล้ำกันบ้าง แต่ดูแล้วไม่ต่างกันมากนัก
เอาล่ะ.. กฎกติกาของเราก็คือ เจ้ากล้องฟิล์ม 2 ตัวนี้ ต้องชกกันแบบหมัดต่อหมัดในแต่ละภาพ ที่ถ่ายพร้อมกัน โดยใช้ฟิล์มแบบเดียวกัน ล้างฟิล์มด้วยน้ำยาเดียวกัน และในการสแกนภาพ จะตั้งเป็น Default ไม่มีการเพิ่มค่าใดๆ นอกจากลบฝุ่นในภาพเท่านั้น
ซึ่งในแมทซ์นี้ ใช้ Kodak Color Plus 200 เจ้าเก่า ( หาซื้อฟิล์มกันได้ที่ www.husbandandwifeshop.com นะจ๊ะ ขายของเล็กน้อย ฮาๆๆ ) และน้ำยา Tetenal C-41 สำหรับล้างฟิล์ม ในขณะที่สเปคของอีกตัวในบางเรื่อง อาจจะเสียเปรียบคู่แข่งอยู่ ก็จะปรับการทำงานอีกฝั่งให้ลงมาใกล้เคียงกันนะจ๊ะ
แรกเริ่ม! เราก็ควรมาทำความรู้จักกล้องทั้งสองฝั่งกันหน่อยดีกว่า
มุมแดง เจ้าบ้าน
Minolta Hi-Matic F ปี 1972
เดิมที เจ้านี่เป็นกล้องเวอร์ชั่นปรับลดสเปคลงมาจาก Hi-Matic E ที่รุ่นใหญ่กว่า แต่กลายเป็นกล้องที่ดึงเอาข้อดีด้านคุณภาพของรุ่นใหญ่ แต่มีขนาดเล็กและถ่ายได้สะดวกกว่ามาแทน จนกลายเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยม แต่ไอ้ที่นิยมมากๆนี่ คงเป็นเมืองไทยในยุคนี้ล่ะ ที่วัยรุ่นไทยต่างตามหากันแทบทุกร้านกล้องตั้งแต่ปีก่อน ที่มีซีรีย์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ออกมา จนถึงป่านนี้ ก็กลายเป็นกล้องฮิตอันดับ 1 ในวัยรุ่นไทย
มาดูสเปคคร่าวๆกันหน่อย

- เป็นกล้องโฟกัสแบบ Rangefinder ปรับภาพเหลื่อมให้ซ้อนกัน ระบบ AE Program อัตโนมัติ ปรับรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เองทั้งหมด
- เลนส์ Rokkor 38mm F2.7 ชิ้นเลนส์ 4 Elements
- รูรับแสง F2.7 – F13 และความเร็วชัตเตอร์ 4 sec – 1/724 sec
- น้ำหนัก 350 กรัม ขนาด สูง 73mm , กว้าง 113mm , ลึก 54mm
มุมน้ำเงิน ผู้ท้าชิง
Olympus 35 RC ปี 1970
เคยรีวิวกันไปทีนึง เมื่อครั้งก่อน แบบเอาไปชนช้างกัน 3 ตัว ทั้ง Olympus 35 SP , 35 RD และเจ้า 35 RC เจ้านี่ถือเป็นกล้อง Rangefinder ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกที่สามารถปรับเป็น Manual ได้ ซึ่งสมัยที่มันออกมา ก็ถือว่าเป็นตัวที่ย่อสเปคลงจากรุ่นพี่ตัวใหญ่อย่าง Olympus 35 SP มานั่นแหล่ะ ตัวนี้ค่อนข้างหายากในตลาด สมัยก่อนราคาไม่แพงเลย แต่ตอนนี้กลายเป็นราคากระโดดไปไกลมากแล้ว
มาดูสเปคคร่าวๆกันหน่อย
- เป็นกล้องโฟกัสแบบ Rangefinder ปรับภาพเหลื่อมให้ซ้อนกัน ระบบ Shutter Priority ปรับความเร็วชัตเตอร์เอง แล้วกล้องคำนวณรูรับแสงให้ และ Manual ปรับความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงเองทั้งหมด
- เลนส์ E.Zuiko 42mm F2.8 ชิ้นเลนส์ 5 Elements
- รูรับแสง F2.8 – F22 และความเร็วชัตเตอร์ 1/15 sec – 1/500 sec ( มีชัตเตอร์ B )
- น้ำหนัก 410 กรัม ขนาด สูง 70mm , กว้าง 109mm , ลึก 50mm
เอาล่ะ.. เมื่อพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยดีกว่า!
ยกที่ 1
มาดูที่รูปร่าง ขนาด กันก่อนดีกว่า ถ้าดูจากตาเปล่า (ก็แน่ล่ะ คงไม่ส่องกล้องจุลทรรศน์) แบบผ่านๆ ขนาดสองตัวนี้ใกล้เคียงกันมากๆ แต่ถ้าวัดกันเป็นตัวเลข เจ้า Olympus 35 RC จะเล็กกว่าจิ๊ดนึง แต่ก็น้อยมากๆ หลักหน่วยมิล ในส่วนของน้ำหนัก เจ้า Hi-Matic F ได้เปรียบเล็กน้อย คือเบากว่าสัก 60 กรัม ซึ่งสำหรับกล้องเนี่ย ก็ถือว่ามีผลอยู่บ้าง
ในส่วนของวัสดุที่ใช้ เราว่าทาง Olympus ใช้วัสดุที่ดีกว่า จากการสัมผัสมาในหลายๆรุ่น ส่วนใหญ่วัสดุจะเป็นเหล็ก แม้แต่ไกขึ้นฟิล์ม น้ำหนักการเลื่อนฟิล์มนี่แข็งแรงมาก สบายมือ ปุ่มชัตเตอร์ก็เป็นเหล็ก ( ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้น้ำหนักมากกว่า ) ถ้าในมุมวัสดุความแข็งแรงแล้ว Olympus 35 RC ได้เปรียบ อันนี้พูดตรงๆ
การหมุนโฟกัสเลนส์ วัสดุดูธรรมดาด้วยกันทั้งคู่ เป็นพลาสติกเบาๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่แข็งแรง ในส่วนของ Hi-Matic F มีก้านช่วยโฟกัสตามสไตล์กล้องยุค ’60-70s ด้วย ก็สบายดีเหมือนกัน ในขณะที่ขนาดเลนส์ ต่างกันเล็กน้อย ตัว Olympus 35 RC จะมีเลนส์ที่เล็กกว่า ( Filter ขนาด 43.5mm ) แต่เจ้า Hi-Matic F จะใช้เลนส์ขนาดใหญ่กว่า ( Filter ขนาด 46mm )
สรุปรวมๆในยกแรก ชกกันแบบดูเชิง จากสภาพภายนอกแล้ว ถือว่า “เสมอกัน”
ยกที่ 2
เริ่มส่องเข้าไปในช่องมองภาพ ด้วยระยะเลนส์ที่ต่างกันของทั้งคู่ คือ Minolta Hi-Matic F จะได้ระยะ 38 mm ซึ่งจะแอบ Wide กว่า Olympus ที่ใช้ระยะ 42mm มุมมองก็ค่อนข้างต่างกันเล็กน้อย สิ่งที่แตกต่างแน่ๆคือ ในช่องมองภาพของ Olympus 35 RC มีการบอกข้อมูลวัดแสง และการปรับรูรับแสงกับความเร็วชัตเตอร์พร้อม ทั้งการใช้แบบ Shutter Priority หรือจะ Manual ก็ตาม ในขณะที่ Minolta Hi-Matic F นั้น… โบ๋เบ๋ จอเปล่าๆเลย
ในส่วนของตัว Rangefinder ภาพเหลื่อมเพื่อปรับโฟกัสนั้น ทั้งคู่ชัดเจนดี แม้จะเป็นกล้องขนาดเล็กมากก็ตาม
ฟังก์ชั่นเสริมต่างๆที่แตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย เช่น Minolta Hi-Matic F จะมีปุ่มเอาไว้เช็คแบตฯที่ด้านหลังกล้อง ว่าแบตหมดหรือยัง ในขณะที่ Olympus 35 RC ไม่มี แต่มีระบบ “Off” เอาไว้ปิดระบบวัดแสง เพื่อประหยัดแบตได้ด้วย ถือว่าแลกหมัดกันไป
ส่วนของการตั้งเวลาถ่าย Self Timer มีด้วยกันทั้งคู่
มี Hot Shoe สำหรับแฟลชด้วยกันทั้งคู่
สรุปรวมแล้ว ยกนี้… Olympus 35 RC ได้คะแนนไป จากที่ช่องมองภาพมีประโยชน์กว่า สามารถบอกข้อมูลได้ดีกว่า
ยกที่ 3
ทดสอบถ่ายชอตแรก .. กลางแดดปกติ ด้วยความที่ฟังก์ชั่นของสองตัวนี้ อาจจะแตกต่างไปบ้าง คือเจ้า Minolta Hi-Matic F นั้น เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ไม่ต้องปรับอะไรนอกจากโฟกัส แต่เจ้า Olympus 35 RC นั้น อัตโนมัติได้แค่ Shutter Priority คือปรับความเร็วชัตเตอร์เอง แล้วกล้องจะปรับรูรับแสงให้ ซึ่งเราจะใช้โหมดนี้ในการเปรียบเทียบ โดยตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/250 sec เป็นหลัก
โดยธรรมชาติของกล้อง Minolta Hi-Matic F นั้น จะเสียเปรียบด้านรูรับแสง ที่แคบได้น้อยกว่า เพราะค่าสูงสุดอยู่ที่ F13 ในขณะที่ Olympus 35 RC ทำได้ถึง F22 แต่ทาง Minolta ก็ชดเชยโดยการทำความเร็วของชัตเตอร์สูงได้ถึง 1/724 sec สูงกว่าของ Olympus ที่ความเร็วชัตเตอร์สูงสุดแค่ 1/500 sec ( หนักกว่านั้นคือบางสำนักถึงกับตั้งข้อสงสัยว่า จริงๆแล้ว มันทำได้แค่ 1/350 sec ด้วยซ้ำไป )
รูปที่ 1 เราถ่ายแสงตอน 7 โมง ให้เห็นระยะความกว้างของภาพ Himatic-F จะได้ภาพแนวกว้างกว่า ด้วยระยะเลนส์ ในเรื่องของความคมและมิติ จะเห็นในรายละเอียดที่ใบไม้ Olympus 35 RC ค่อนข้างคมชัดกว่า เห็นมิติมากกว่า
รูปที่ 2 ทดสอบสีสัน Minolta Hi-Matic F ค่อนข้างดู Contrast เข้มกว่าหน่อย แต่ความจัดจ้านของสี ไม่ค่อยต่างกัน ที่เห็นชัดๆก็ยังคงเป็นเรื่องความคม และมิติ ที่ Olympus 35 RC ทำได้ดีกว่า
รูปที่ 3 ทดสอบถ่ายย้อนแสง ปกติเราเป็นคนชอบลองถ่ายย้อนแสง ดูว่าระบบวัดแสงของกล้องทำงานยังไง? และดูว่าถ้าเรากะจากมุมมองสายตาเราเอง ถ่ายออกมาจะได้อย่างที่คิดแค่ไหน? จากการลองจะเห็นว่า Minolta Hi-Matic F จะงงๆกับการวัดแสงแบบนี้ ซึ่งเป็นปกติกับกล้องที่อัตโนมัติทั้งหมด และไม่สามารถปรับค่าอะไรได้ ในขณะที่ Olympus 35 RC เราสามารถกะแสงได้ดีกว่า โดยปรับความเร็วชัตเตอร์ลงเหลือ 1/125 sec แล้วให้กล้องคำนวณค่ารูรับแสงเอง ผลออกมา ก็น่าพอใจกว่า Minolta Hi-Matic F
รูปที่ 4 ทดสอบถ่ายในแสงที่แตกต่างกัน ระหว่างสว่างสุด ปกติ และมืด ในรูปเดียวกัน การวัดแสงเฉลี่ยของกล้อง Minolta Hi-Matic F ทำได้ดีเลย ขณะที่จะกดถ่าย กล้องมีสัญญาณไฟแดงเตือนว่า กำลังจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ 1/30 sec แสดงว่ากล้องเลือกรูรับแสงที่แคบมาก ทำให้ จุดที่สว่างมาก ก็จะไม่มากเกินไป จุดปกติก็กำลังดี จุดที่มืดกว่าก็ยังเห็นรายละเอียดชัด อันนี้ทำได้ดีกว่า Olympus 35 RC ที่เราเลือกความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 1/60 sec ทำให้กล้องเลือกรูรับแสงที่กว้างกว่า จึงได้ผลที่แตกต่างไป
รูปที่ 5 จะโชว์ให้เห็นระยะโฟกัสที่ใกล้ที่สุดที่กล้องแต่ละตัวทำได้ Minolta Hi-Matic F ทำระยะได้ใกล้สุดที่ 0.8 M หรือ 80 cm. ในขณะที่ Olympus 35 RC ทำระยะได้ที่ 0.9 M หรือ 90 cm. แต่หักลบกับระยะเลนส์แล้ว เลยทำให้ดูระยะเท่ากันเลย (ตอนถ่าย เริ่มเย็นแล้ว ทำให้การคำนวณแสงต่างกัน จะเห็นว่า Hi-Matic F พยายามเลือกค่ารูรับแสงที่แคบที่สุดในแสงนั้น ทำให้เห็นข้างหลังชัดอยู่ ในขณะที่ Olympus นั้น เราตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 1/250 sec อยู่ ค่ารูรับแสงที่กล้องเลือกเลยกว้างกว่าเยอะ เลยได้หน้าชัด หลังเบลอกว่า)
รูปที่ 6 รูปสุดท้ายของยก ทดสอบถ่ายรูปมุ๊งมิ๊ง จะเห็นว่า Minolta Hi-Matic F จะพยายามตั้งรูรับแสงให้แคบที่สุดเสมอ ซึ่งเป็นปกติของกล้องระบบนี้ ทำให้ยากจะควบคุมเรื่องชัดตื้น ชัดลึก ในขณะที่ Olympus 35 RC สามารถเลือกได้มากกว่า และให้ความคมของภาพที่ดีกว่า
สรุปรวมแล้ว…. ยกนี้ สเปคถึงแม้ว่าจะสูสีกัน แต่ความคมของเลนส์ และการถ่ายภาพกลางแจ้งนี่ Olympus 35 RC ได้ไปนะ ทั้งภาพที่คม สีสัน มิติ ค่อนข้างได้เปรียบ Minolta Hi-Matic F อยู่ ต้องให้คะแนน Olympus 35 RC ไป
ยกที่ 4
คราวนี้มาทดสอบที่ ในที่ร่ม และที่มืดกันบ้าง เอาจริงๆแล้วสเปคของเลนส์ทั้งคู่ อาจจะใกล้เคียงกันมาก คือ F2.8 รูปรับแสงขนาดนี้ อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับสภาพที่ร่มหรือที่มืดมากนัก แต่..ความได้เปรียบของ Minolta Hi-Matic F ก็คือ มันมีความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าเยอะมากกก!! ระดับ 4 sec เลยทีเดียว ในขณะที่ Olympus 35 RC ทำได้แค่ 1/15 sec เท่านั้น จากการใช้ฟิล์ม ISO 200 เราลองมาดูกัน ว่าผลจะเป็นยังไง…
รูปที่ 1 เริ่มทดสอบจากที่ที่แสงน้อยพอประมาณ ซึ่งดูจาก Olympus 35 RC ใช้ความเร็วชัตเตอร์อยู่ที่ 1/30 sec และรูรับแสงกว้าง F2.8 ซึ่งลองใช้เครื่องวัดแสงดูแล้ว คาดว่า Minolta Hi-Matic F ก็น่าจะใช้ค่าประมาณเดียวกัน ผลออกมาทำได้ดีทั้งคู่อยู่
รูปที่ 2 แสงยังอยู่ในระดับเดียวกันอยู่ Olympus 35 RC ยังโชว์ความคมของเลนส์ได้ดี แม้จะใช้รูรับแสง F2.8 อยู่
รูปที่ 3 ลดระดับมาให้มืดที่สุดเท่าที่ Olympus 35 RC จะทำได้ ก็คือ รูรับแสง 2.8 และความเร็วชัตเตอร์ 1/15 sec จะเห็นว่าถึงตรงนี้ Minolta Hi-Matic F เริ่มได้เปรียบที่สามารถเลือกใช้ค่ารูรับแสงที่แคบกว่า ทำให้ได้ภาพที่ชัดกว่าแม้ในที่แสงน้อย
รูปที่ 4 จุดพีคครับ ลองถ่ายในที่มืดระดับที่ใช้เครื่องวัดแสง อ่านค่าได้ว่า รูรับแสง F2.8 ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/4 sec ซึ่ง Olympus 35 RC ไม่สามารถถ่ายได้ ก็จะเห็นว่า Under ไป 2 Stop ครับ มืด…เป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่ Minolta Hi-Matic F ถ่ายได้สบายๆครับ
รูปที่ 5 ทดสอบการต่อกับ Flash ครับ ซึ่งการทำงานร่วมกับ Flash ก็เป็นไปด้วยดีทั้งคู่ ใช้ง่ายไม่มีปัญหาอะไร แต่ Minolta Hi-Matic F ค่อนข้าง Sync กับ Flash ได้ดีกว่าหน่อยนะ ดูจากการให้แสง Flash ดูแล้วภาพแสงเนียนดี (นางแบบจำเป็น ทำท่าสองรูปนี้ได้เป๊ะมาก)
สรุปเลยนะ…. ยกนี้ ปัญหาของเจ้า Olympus 35 RC ที่มีระบบล็อคชัตเตอร์เมื่อแสงน้อย ทำให้ไม่คล่องตัวในการถ่าย แถมด้วยความเร็วชัตเตอร์แค่ 1/15 sec ทำให้สู้แสงน้อยยากจริงๆ เพราะฉะนั้นด้วยความคล่องตัวของการถ่ายภาพในที่ร่ม และที่มืดที่มีมากกว่าของ Minolta Hi-Matic F ก็ได้คะแนนไปเต็มๆ
ป.ล. สำหรับผู้ใช้ Olympus 35 RC ถ้าต้องการถ่ายในที่ร่มหรือแสงน้อยบ่อยๆ ควรหันไปใช้ฟิล์ม ISO 400 แทน จะช่วยได้มากทีเดียว
ยกที่ 5 …
นึกไม่ออกและ ว่าจะถ่ายอะไร ฮาๆๆ เอาเป็นสรุปเลยดีกว่าล่ะ จากทดสอบการถ่ายมาประมาณนึงแล้ว ลองหิ้วออกไปใช้งานประมาณนึงแล้ว ส่วนตัวนะ รวมๆเราให้คะแนน Olympus 35 RC มากกว่า โดยข้อสรุปที่ได้เปรียบคือ
1.ความยืดหยุ่นของฟังก์ชั่น เจ้า Olympus 35 RC มีโหมด Manual ให้ด้วย แถมด้วยชัตเตอร์ B ในขนาดของกล้องที่เล็กพอๆกัน
2.ในช่องมองภาพ บอกค่าของรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ช่วยให้รู้ว่ากำลังถ่ายอยู่ในค่าแบบไหน ซึ่งในรุ่น Olympus 35 DC ที่เป็นระบบ AE ก็มีบอกเหมือนกัน
3.วัสดุโดยรวมค่อนข้างดีกว่า น้ำหนักชัตเตอร์และการเลื่อนฟิล์มต่างๆ ดูหนักแน่นดี
แต่ก็ไม่ใช่ว่า Minolta Hi-matic F จะสู้ไม่ได้นะ จากการทดสอบ เราว่ามันก็เป็นกล้องที่ทำได้ดีมากเลย (ซึ่งหลายๆคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงจะเห็นจากภาพได้นะ) ซึ่งจริงๆแล้วข้อได้เปรียบก็มีมากอยู่
1.สำหรับคนที่ต้องการความสะดวกแบบไม่ต้องปรับอะไรมาก Minolta Hi-matic F ตอบโจทย์ ทั้งขนาด น้ำหนัก ( ที่เบากว่า Olympus 35 RC ด้วยซ้ำ ) และได้คุณภาพของภาพที่ดีด้วย
2.สำหรับคนที่ชอบภาพแนว Wide หน่อย เจ้า Minolta Hi-matic F ก็ได้เปรียบกว่า เพราะได้ภาพที่ Wide ดี ถ้าลองเทียบจากรูปที่ถ่ายในมุมเดียวกันแล้ว จะเห็นได้ชัด
3.อันนี้ข้อสำคัญเลย ราคาและความหาง่าย เจ้า Minolta Hi-matic F ราคาถูกกว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้ราคาจะกระโดดขึ้นเรื่อยๆเพราะความฮิต แต่ก็ยังถูกกว่าเจ้า 35 RC แถมหาซื้อได้ง่ายกว่าเยอะ ในเพจที่ขายกล้องฟิล์ม กล้องเก่า มีมาขายกันแทบทุกวัน
เพราะฉะนั้น เราเป็นแค่เสียงนึงในการให้คะแนนครั้งนี้ แต่สำคัญคะแนนอื่นๆ อยู่ที่คุณๆที่จะใช้นั่นแหล่ะ ว่าจะชอบแบบไหน ถูกใจหรือเปล่า อันนี้เป็นข้อมูลเพียงส่วนนึงที่ช่วยให้ตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้นนะจ๊ะ ขอบคุณที่ติดตามรีวิวบ้านๆครั้งนี้ ชอบใจโปรดแชร์ ไม่ชอบใจก็โปรดแชร์ … ครั้งต่อไปจะรีวิวอะไร โปรดติดตาม หรือจะรีเควสมาก็ได้นะ ยินดีไปควานหากล้องมาทดสอบ 🙂
บทความ โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

3 Comments Add yours