เหตุผลดีๆและ 10 อันดับกล้อง Rangefinder ที่ทำให้เราหลงรักกล้องฟิล์ม

ถ้าใครที่เพิ่งหันมาทำความรู้จักกล้องฟิล์มใหม่ๆ มักจะมีคำถามว่า อะไรคือกล้อง Rangefinder วะ? มันต่างจากกล้องประเภทอื่นยังไง? บางคนพอจะรู้ ก็จะถามต่อว่า แล้วมันดีกว่ากล้องแบบอื่นยังไงล่ะ? ซึ่งมีคนถามเยอะมาก เลยคิดว่าจะเขียนนานแล้วล่ะ เพราะหลังจากถามว่ามันคืออะไร ส่วนใหญ่ก็อยากจะให้แนะนำต่อด้วยว่าตัวไหนดี จริงๆแล้ว กล้อง Rangefinder ส่วนใหญ่นี่ค่อนข้างเหมาะกับมือใหม่ที่สนใจกล้องฟิล์มนะ เพราะขนาดของมันจะไม่ใหญ่มาก พกพาง่าย (ก็ไม่ทุกตัวแหล่ะนะ) และให้คุณภาพดีเลิศ เคยอ่านบทความฝรั่งโปรๆถ่ายรูปบางคน เคยเขียนบอกว่า “ถ้าอยากสะดวกก็กล้อง SLR ถ้าอยากได้คุณภาพภาพที่ดี ..ต้อง Rangefinder” ( เราเคยเขียนถึงตอน “เอาล่ะวัยรุ่นทั้งหลาย!.. มาเลือกกล้องฟิล์มที่เหมาะกับตัวเองกันเถอะ.” ลองอ่านดู )

ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ Rangefinder แปลตรงตัวก็คือ กล้องที่มีตัวหาระยะให้ เพราะสมัยก่อน กล้องมันไม่ได้ออโต้โฟกัสนะจ๊ะ ออโต้ด้วยมือตัวเองกันนี่แหล่ะ ซึ่งเดิมๆเลยโหดตรงที่ อยากโฟกัสที่อะไร เราก็กะว่าจากกล้องไปที่วัตถุนั้น มันมีระยะเท่าไหร่? ดูแบบต้องมีความรู้กันบ้าง จะมาไก่กา 1 เมตรนี่ยาวแค่ไหนวะนี่ไม่ได้เลย บางคนกะแม่นก็ดีไป กะมั่วก็เละไป การถือกำเนิด Rangefinder เลยเสมือนเทคโนโลยีสุดยอดของคนถ่ายรูปในสมัยก่อนเลยทีเดียว

ไอ้การหาระยะของตัว Rangefinder นี่แหล่ะที่คนที่ยังไม่เคยสัมผัสจะนึกยาก จินตนาการนิดนึงว่า ไอ้กล้อง Rangefinder มันมีช่องมองภาพ และเลนส์ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ปกติถ้าเราใช้กล้องดิจิตอลนะ จะเห็นว่าเราเล็งภาพอะไร ภาพที่ขึ้นมาที่จอ คือสิ่งที่เราจะจับภาพได้ตามนั้น แต่.. Rangefinder ไม่ใช่ ช่องมองภาพมันเป็นแค่กระจกที่ส่องได้ระยะประมาณกะๆเอา ให้เป็นระยะเดียวกับที่เลนส์จะจับภาพได้ แปลว่า.. สิ่งที่เห็น จะไม่ใช่สิ่งที่ถ่ายได้เป๊ะๆ (ตามทันมั๊ย) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้ประเภทหน้าชัดหลังเบลออะไรนี่.. ต้องจินตนาการกันเอานะ ว่าจะได้แบบนั้นหรือเปล่า

วิธีการโฟกัสของ Rangefinder ก็ไม่ยาก ด้านในช่องมองภาพมันจะมีแถบช่วยโฟกัสอยู่ตรงกลางภาพ สีจะต่างจากจุดอื่น เวลาเราอยากจะโฟกัสอะไร เราก็เล็งไปที่ระยะนั้นๆ หมุนโฟกัสดู จะพบว่ามีภาพซ้อนเกิดขึ้น เราจะรู้ได้ไงว่าจุดนั้นจะชัด? ง่ายๆคือเราก็หมุนจนพบว่าภาพซ้อนนั้นมันทับซ้อนกับวัตถุที่เราต้องการให้ชัดพอดี งงมั๊ย? อ่ะ… ดูรูป

ซ้าย : ยังไม่โฟกัส ขวา : โฟกัสเข้าแล้ว
ซ้าย : ยังไม่โฟกัส                                                                                                                   ขวา : โฟกัสเข้าแล้ว

พอเข้าใจแล้วเนอะ ทีนี้ไอ้ Rangefinder มันมีหลากหลายมาก เราแบ่งหมวดหมู่คร่าวๆแบบนี้ละกัน

  1. กล้อง Rangefinder แบบเปลี่ยนเลนส์ได้  ไอ้แบบนี้ถือเป็นกล้อง Rangefinder แบบคนมีตัง ส่วนใหญ่ราคาจะสูง อุปสรรคหลักๆนอกจากเปลืองตังคือ ช่องมองภาพไม่ได้มีครบสำหรับทุกระยะเลนส์ที่เอามาเปลี่ยน เช่น กล้องอาจจะมีช่องมองภาพระยะ 35mm. และ 50mm.   ถ้าเราเอาเลนส์ระยะนอกจากนี้มาใส่ เราก็ต้องเอาช่องมองภาพสำหรับเลนส์ตัวนั้นมาเสียบด้วย เป็นต้น ยี่ห้อดังๆก็เช่น Leica , Voigtlander , Canon , Contax เป็นต้นแต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังพอหาแบบราคาถูกๆได้ ก็จะเป็นกล้องที่ผลิตในรัสเซีย เนื่องจากยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียเป็นตัวจอมก๊อปปี้ และเมื่อตอนชนะสงคราม พี่แกก็ยึดโรงงานในเยอรมันไปเยอะ (เยอรมันถือเป็นสุดยอดคนผลิตกล้องในยุคนั้น) ลอกทั้งเทคโนโลยี ขโมยวัตถุดิบการผลิตมาทำเองในราคาประหยัดให้กับคนในประเทศ จึงทำให้มีกล้องจากรัสเซียเกลื่อนกลาด ดีมั่งไม่ดีมั่ง แต่ที่แน่ๆมันถูก เช่น FED รุ่นต่างๆ เป็นต้น
Processed with VSCOcam with f2 preset

2.  กล้อง Rangefinder แบบเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ (Fixed Lens) พวกนี้มีตั้งแต่ขนาดเล็ก ถึงตัวใหญ่พอสมควร ราคาถูกเป็นปลากระป๋อง ยันราคาไฮโซโนลิมิต แน่นอนว่า มีราคาที่ทุกคนเอื้อมถึงสบายๆมหาศาล และคุณภาพดีเลิศ เราแบ่งย่อยอีกเล็กน้อยคือ

DSC_0473 copy

2.1 แบบ Manual คือมันปรับให้ถ่ายได้แบบโปรๆเลย แยกรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ออกจากกันอิสระ พวกนี้ราคาจะสูงกว่าแบบอื่นหน่อย หายากกว่าเพื่อนหน่อย และก็มักจะมีระบบออโต้แถมมาด้วยนั่นแหล่ะ

2.2 แบบ ออโต้ คือมีระบบช่วยปรับค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้ (ไม่ใช่ออโต้โฟกัสนะ สมัยนั้นยังไม่มี) มันจะมีออโต้อยู่ 3 แบบ

Program AE คือ ปรับให้ทั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์เลย : ข้อดี ไวโคตร ไม่ต้องปรับอะไรเอง โฟกัสแล้วกดถ่ายลูกเดียว

Aperture Priority คือ เราปรับรูรับแสงเอง กล้องจะคำนวณความเร็วชัตเตอร์ให้ : ข้อดี ปรับชัดตื้นชัดลึกง่าย

Shutter Priority คือ เราปรับความเร็วชัตเตอร์เอง กล้องคำนวณรูรับแสงให้ : ข้อดี อยากได้ภาพวัตถุนิ่งหรือไหว ก็ปรับได้ง่าย

มาถึงข้อดีข้อเสียที่ก่อนจะเล่นกล้อง Rangefinder ควรจะรู้ไว้นะ จะได้ไม่มาบ่นทีหลัง

ข้อดี

  1. มันพกง่ายกว่ากล้อง SLR เป็นส่วนใหญ่ (บางตัวแม่งก็ใหญ่ไป๊) ส่วนใหญ่มันจะตัวเล็ก พกสะดวก
  2. มีระบบการโฟกัสแบบ Rangefinder ที่ช่วยให้โฟกัสได้แม่นยำ
  3. คุณภาพภาพระดับ Full Frame ด้วยเลนส์ที่คุณภาพดีเยี่ยม (เขาว่ากันว่ามันคมกว่า SLR น่ะ) ภาพคมแจ่มมาก
  4. ชัตเตอร์เบาสลัด.. บางตัวนี่กดแล้วแทบไม่รู้สึก ทำให้เวลาถ่ายความเร็วชัตเตอร์ช้าๆนี่นะ ภาพมันไม่สั่นไหว
  5. ช่องมองภาพสว่างแจ่มแจ้ง มันเป็นกระจกเฉยๆ ไม่ต้องไปสะท้อนภาพมาเหมือน SLR
  6. ราคาไม่แพง (ไอ้แพงน่ะก็มีเยอะ แต่ส่วนใหญ่คือไม่แพงไง)

ข้อเสีย

  1. ข้อเสียที่ต้องรับรู้เป็นอย่างแรก.. ระยะโฟกัสที่ใกล้ที่สุด มักจะอยู่ที่ 90cm. – 1 เมตร โชคดีสุดๆก็ 70cm. ก็จะแปลผันตามราคา ลืมไปได้ว่าจะถ่ายเค้กฟรุ้งฟริ้งใกล้ๆ ไม่ง่ายๆ แต่ถ่ายรูปให้สวยน่ะ.. ไอ้ระยะแบบนี้ไม่ใช่ปัญหา
  2. ระบบโฟกัสแบบ Rangefinder ไอ้ดีก็ดีแหล่ะ ไอ้ไม่ดีก็คือ เล็งไม่ง่ายนะ บางตัวก็เล็งยากหนักเลยก็มี ต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อยๆให้ชิน
  3. ระยะเลนส์ มีให้เลือกน้อยกว่า SLR เยอะ แต่ถ้าคนไม่เปลี่ยนเลนส์เยอะแยะนะ ก็ดีกว่า เราคนนึงอ่ะ เป็นคนที่ขี้เกียจใช้เลนส์เยอะแยะ ชอบระยะประมาณ 40mm. ที่สุดแล้ว ก็ใช้แค่นี้เลย เดินเข้าๆออกๆเอาเอง
  4. เพราะช่องมองภาพกับเลนส์ไม่เกี่ยวกัน ไอ้การจะเห็นภาพเป็น Depth ว่าตรงนี้ชัดข้างหลังเบลอนี่ไม่เห็นหรอก ต้องใช้ประสบการณ์เอา แถมด้วย Parallax errors แปลเป็นไทยคือ ตรูเล็งกรอบประมาณนี้ไว้ รูปจริงออกมา เฮ้ย…ทำไมเบี้ยวไปแบบนั้นล่ะ เป็นกล้องที่ต้องจินตนาการถึงภาพที่จะได้เยอะ แต่นั่นแหล่ะ… คือเสน่ห์ของมัน

เอาล่ะ… เข้าใจแล้วนะ ทำความรู้จักกันมาประมาณนึงแล้ว ทีนี้มาถึงอีกข้อที่หลายๆคนอยากรู้เวลาถามถึงกล้องประเภทนี้ เราจะมาแนะนำ10 สุดยอดที่เราคิดว่ามันดีนะ ว่า Rangefinder ตัวไหนที่น่าสนใจ ไล่จากอันดับ 10 กันไปเลย..

Canon 7s (1965 – 1967 )

Canon 7s ( เครดิตภาพจาก leitzmuseum.org )

เราเปิดตัวอันดับ 10 ด้วยกล้อง Rangefinder ที่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ สำหรับคนที่อยากได้แบบเปลี่ยนเลนส์ในราคากลางๆ เจ้า Canon 7s ถือเป็นกล้อง Rangefinder แบบเปลี่ยนเลนส์ตัวสุดท้ายที่ Canon ผลิตด้วย ด้วยวัสดุสุดยอดแข็งแรงมาก เนี๊ยบทุกจุด และปรับปรุงจุดด้อยของรุ่นก่อนหน้าคือ Canon 7 (ที่ถือเป็นกล้องระดับตำนานเหมือนกัน) เพิ่มจุดสำคัญเช่น ตัววัดแสงใช้ถ่าน ทำให้ไม่เสื่อมง่ายเหมือนตัวก่อนหน้า

เจ้า Canon 7s ใช้เลนส์ประเภท LTM mount ของ Leica ทำให้มีเลนส์ให้เลือกใช้เยอะ แต่ก็ตามราคานะ ส่วนใหญ่ราคาก็ไม่ใช่เล่นๆ แม้แต่เลนส์ของ Canon เอง (ซึ่งคุณภาพเทพมากๆ) พื้นๆก็ 50mm F1.8 ราคาประมาณ 7-8 พันพอจะหาได้ ถ้าจะถูกหน่อยก็ต้องใช้เลนส์ของรัสเซีย เช่น Jupiter 8 50mm F2.0 ซึ่งคุณภาพใช้ได้เลย ราคาก็ตกประมาณ  2 พันบาทก็หาได้

จุดเด่นหลักๆของกล้อง เพราะมันถือเป็นตัวที่ออกมาชนกับ Leica M3 ในยุคนั้น มันจึงถือว่ามีคุณภาพเจ๋งๆในหลายๆด้านเลย เช่น ช่องมองภาพที่กว้างขวางสบายตา มี Frame ให้เลือกใช้กับเลนส์หลากหลาย ทั้ง 35mm , 50mm. , 85mm. ,100mm. ส่วนตัวนี่ให้เลือกกับ Leica เราขอตัวนี้เลยนะ ชอบมากกว่า ฮาๆ

ราคาเฉพาะตัวบอดี้กล้อง ราวๆ 1-2 หมื่น แถวนี้ หายากหน่อย แต่ถือว่าเป็นกล้องเยี่ยมๆระดับตำนานที่ราคาเบากว่าการไปเล่น Leica เยอะ

Voigtlander Bessa R ( 2001 – ปัจจุบัน )

5e057-2145

ถ้าให้พูดถึงกล้อง Rangefinder ในยุคสมัยใหม่ ก็คงไม่พ้น Voigtlander แน่ๆ เพราะเป็นยี่ห้อเดียวที่ยังผลิตกล้องฟิล์มประเภท Rangefinder หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เจ้าซีรี่ย์ Bessa R เริ่มผลิตในปี 2001 เป็นต้นมา ในสมัยที่คนกำลังจะหันไปเล่นกล้องดิจิตอลกันแล้ว แต่พี่เค้าดันหันมาทำกล้องฟิล์มดั้งเดิม เราเคยเขียนรีวิวเจ้า Bessa R ไปทีนึงแล้ว แต่อันนี้เราแนะนำทั้งซีรี่ย์ Bessa R เลย ไม่ว่าจะ R , R2 , R2A , R2M , R3A , R3M , R4A , R4M ซึ่งก็เคยอธิบายทั้งหมดไว้แล้วในบทความ รีวิวกล้องฟิล์มแบบบ้านๆ Voightlander Bessa R ลองคลิกไปอ่านกันดูได้

เจ้านี่ใช้ Mount เลนส์ของ Leica เป็นหลัก ทำให้มีเลนส์ให้ใช้มากมาย แถมตัวเองยังผลิตเลนส์เพิ่มเข้ามาอีก จนปัจจุบันนี้ ถือว่า Voigtlander เป็นเลนส์หนึ่งในผู้นำตลาดกล้องเลย ใครที่เอื้อมราคา Leica ไม่ถึง ก็หันมาพึ่งพาพี่เค้านี่แหล่ะ เผลอๆบางคนดันชอบมากกว่า Leica เอาซะด้วย

จุดเด่นของซีรีย์นี้คือ รวมเอาสุดยอดเทคโนโลยีที่กล้องประเภท Rangefinder จะมีได้ ทั้งการวัดแสงที่เที่ยงตรง แสดงผลเป็นไฟ LED ดูง่ายมาก ช่องมองภาพที่กว้าง สว่างโคตรๆ ชนะเลิศ ดีกว่า Leica หลายๆรุ่นซะอีก น้ำหนักและขนาดกำลังดี ไม่หนักไม่ใหญ่เกินไป ใครชอบใช้เลนส์ระยะไหน ชอบระบบออโต้ ไม่ออโต้อะไร ก็มีให้เลือกหลายรุ่นตามความต้องการ  วัสดุแม้ว่าจะไม่ใช่เหล็กหมดเหมือนสมัยก่อน แต่ก็เป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทานดีมาก

ราคาปัจจุบันนี้ของใหม่ๆเลย (เฉพาะ R2A , R2M ขึ้นไป) เฉพาะบอดี้ก็ขายกันราวๆ 2 หมื่นกว่าๆ ถ้าใช้เลนส์ของ Voigtlander เองตัวเบสิคๆก็ตกหมื่นกว่าถึงสองหมื่น รวมราคาแล้วถือว่าเบากระเป๋ากว่า Leica เยอะมากๆ ถ้าอยากประหยัดกว่าก็อาจจะหามือสอง และหันไปใช้เลนส์รัสเซีย ก็จะถูกเลยล่ะ

Konica C35 (1968)

Konica C35 (เครดิตภาพจาก camerapedia.wikia.com)

หันมาสลับกล้อง Rangefinder แบบ Fixed Lens กันบ้าง เราเริ่มต้นแนะนำตัวที่ถือว่าเป็นม้านอกสายตาทุกคนเลย จริงๆแล้วเจ้านี่คุณภาพไม่กระจอกเลยนะ Konica C35 เป็นกล้องที่ใช้ระบบ Program AE คือไม่ต้องทำอะไรเลย แค่โฟกัสแล้วกดถ่ายได้เลย เจ้านี่ใช้เลนส์ Hexanon 38mm. F2.8 ก็เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป ชัตเตอร์สปีดเป็นแบบผูกติดกับรูรับแสงไปเลย คือไม่ได้แยกกันอิสระ เช่น ถ้ากล้องเลือกใช้ F2.8 ก็จะคู่ไปกับความเร็วชัตเตอร์ 1/30 หรือ 1/60 เป็นต้น (ความเร็วชัตเตอร์ตั้งแต่ 1/30s – 1/650s แถมมีชัตเตอร์ B ให้ด้วย)

เจ้าซีรีย์ C35 มีอยู่หลายตัว เวลาจะซื้อต้องดูดีๆนิดนึง เพราะอย่างตัว C35 V (E&L) อันนี้จะไม่ใช่กล้อง Rangefinder นะ เป็นแบบกะระยะ ต้องระวังดีๆ

คุณภาพวัสดุของกล้องจัดอยู่ในระดับกลางๆ ส่วนตัวคิดว่ามันพอๆกับกล้องอย่าง Minolta Hi-matic F ถือว่าใช้ได้ ไม่ป๊อกแป๊กเกินไป ช่องมองภาพสว่างดี แม้จะเล็กไปนิด เพราะแสดงข้อมูลในช่องมองภาพหลายอย่าง แต่ก็ไม่อึดอัด ราคาเจ้านี่ถือเป็นจุดแแข็ง เพราะราคาถูกกว่าชาวบ้านชาวช่อง หาได้น่าจะราวๆสองพันกว่า ไม่เกินสามพัน

FED 5 (1977 – 1990)

FED 5 (เครดิตภาพจาก top35mm.com)

นึกๆอยู่นานว่าควรเอามาใส่ในอันดับดีมั๊ย? เพราะหน้าตาของมัน ที่เราว่า..เอิ่ม.. ไม่หล่อละกัน แต่ในความไม่หล่อมันก็มีดีอยู่มาก ที่สำคัญจนเป็นเหตุผลให้เราใส่มาด้วยคือ มันเป็นกล้อง Rangefinder แบบเปลี่ยนเลนส์ที่ราคาถูกโคตรๆ! ถูกเป็นอึเลย อึวัวดีๆยังแพงกว่าเลยเฮ้ย!

FED 5 เป็นรุ่นที่ 5 แล้วของ FED ยี่ห้อกล้องที่ผลิตในรัสเซีย (สมัยนี้ก็คือยูเครน) ซึ่งโรงงานรัสเซียมันจับฉ่ายมาก สร้างแบรนด์อะไรต่ออะไรเต็มไปหมด เน้นปริมาณเป็นหลัก จนขึ้นชื่อว่ากล้องราคาถูกโคตรๆ (แต่ก็เสี่ยงมาด้วยคุณภาพที่เหมือนซื้อหวย โดนกินมั่งถูกมั่ง) ส่วนตัวเรา กล้องรัสเซียที่ชอบที่สุดคงเป็น Zorki มากกว่า แต่ไม่ค่อยเหมาะกับมือใหม่เท่าไหร่นะ

ข้อดีของ FED 5 ก็คือมันใช้เลนส์ LTM Mount ดังนั้นถ้าจะมีตังขนาดเอาเลนส์ Leica แบบ LTM มาใส่ก็ไม่มีใครว่า แต่เลนส์รัสเซียด้วยกัน หรือแม้แต่ที่มันติดมากับกล้องก็ไม่ธรรมดานะครับ เลนส์ที่ติดมาก็คือ Industar 61 ซึ่งเป็นเลนส์กิ๊กก๊อกที่ดีเลย สมัยก่อนเราเล่นกล้องดิจิตอลพวก Mirrorless เราถอดของพ่อมาใส่ดู เฮ้ย… คมเว้ยย … ซึ่งราคาขายในตลาดนะ.. เอิ่ม… 500 บาท!!

เลนส์ Industar 61 นี่เป็นเลนส์ 50mm. F2.8 อาจจะไม่ไวแสงมาก เราสามารถเอาตัวอื่นมาแทนได้ เช่น Jupiter 8 50mm. F2.0 หรือจะเทพรัสเซียอย่าง Jupiter 3 50mm. F1.5 ซึ่งรายนี้ ราคาไม่ถูกนะครับ เฉียดๆหมื่นเลย

กล้อง FED 5 มีความเร็วชัตเตอร์ตั้งแต่ 1 – 1/500 sec พร้อมด้วยชัตเตอร์ B มาด้วย ระบบวัดแสงก็มีด้วยนะ แต่เป็นแบบเซเลเนี่ยม ปัญหาส่วนใหญ่ของกล้องประเภทนี้ก็คือ.. เซเลเนี่ยมเสื่อมนั่นแหล่ะ ต้องเช็คกันดีๆ

กล้องเป็น Manual ล้วนๆ ระบบที่มีล้าหลังพอสมควร รวมไปถึงน้ำหนักกล้องที่ก็ปาไปเกือบจะกิโลแล้ว แถมใหญ่ด้วย.. จะดีมั๊ยวะเนี่ย คือเอางี้ เราแนะนำตัวนี้เข้ามาเพราะ… มันถูก!! ฮาๆ

ราคาพร้อมเลนส์ อยู่ราวๆ 4 พันต้นๆไม่ควรเกินนี้ กับกล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ (หรือจะไม่เปลี่ยนแต่ได้ระยะ 50mm. นี่ก็หายากนะ) ถือว่าถูกมากๆสำหรับการเริ่มต้นของมือใหม่ทั้งหลาย

Leica M3 (1954-1966).

Leica M3 ( เครดิตภาพ Simon Brown จาก 500px )

เอาใจคนที่ใฝ่ฝันถึง Leica สักตัว จะเห็นว่าใน List นี้เราจะไม่เน้นกล้องที่แพงจนเกินไป เอาที่มีความเป็นไปได้ที่จะหามาใช้กันได้ง่ายๆ แต่สำหรับ Leica ที่ถือว่าเป็นสุดยอดกล้อง Rangefinder ก็ว่าได้ ราคาอาจจะเกินเอื้อมของใครหลายๆคน เราเลยขอนำเสนอ Leica ชั้นดีระดับคลาสสิคที่ราคาไม่สูงจนเกินไป นั่นคือ Leica M3 เจ้านี่ถือได้ว่าเป็น Leica รุ่นในตำนาน ขายดีที่สุดตลอดกาลของเค้า คุณภาพเราก็ไม่ต้องพูดถึงนะว่ามันเจ๋งขนาดไหน ด้วยหน้าตาหล่อระดับเทพ กลไกชั้นเลิศ เป็นกล้องที่ใครๆฝันถึงเลยล่ะ

จุดเด่นของ M3 คือมันมีช่องมองภาพที่กว้างสว่างสบาย กลไกและวัสดุขั้นเทพ เหมือนขับเบนซ์ (มโนเอานะ ไม่เคยขับ) แต่จุดที่ต้องจำเอาไว้เลยคือ มันไม่มีตัววัดแสง เพราะฉะนั้นต้องหาเพิ่ม (ในยุคของมัน มีที่วัดแสงขายแยก แต่เราว่าหน้าตามันแย่.. ) หรือใช้แอพบน iPhone ก็ได้

แล้วมันเหมาะกับการถ่ายแบบไหนบ้าง? เราแนะนำคือ นอกจากคนที่ชอบของหล่อๆแล้ว ต้องเป็นคนเน้นเลนส์ระยะ 50mm.ขึ้นไป เพราะช่องมองภาพจะมี Frame ระยะ 50mm. , 90mm. และ 135mm. ให้ แต่ไม่มีระยะกว้างกว่า 50mm. ขาที่ชอบเลนส์ Wide ทั้งหลายนี่อาจจะต้องลำบาก

และการถ่ายสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่ชินการใช้กล้องกลไกล้วน การใช้ M3 ก็ออกจะไม่สะดวกเท่าไหร่ เหมาะกับคนที่ไม่รีบร้อนมาก แต่ถ้าโปรๆที่เค้าชำนาญแล้ว สามารถกะแสงได้เอง ( กฏ Sunny 16 ) รู้จัก DOF ระยะชัดตื้นชัดลึกแล้วล่ะก็… จะถ่ายได้โคตรไวกว่ากล้องออโต้โฟกัสซะอีกเลยล่ะ

Leica M3 มีรายละเอียดแต่ละปีต่างกันไปบ้าง มีการปรับเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆ จุดสำคัญที่ควรรู้เช่น มันจะมียุคที่ M3 เป็นแบบ Double Stroke คือเวลาจะขึ้นฟิล์ม ต้องขึ้นไกสองครั้งถึงจะถ่ายได้ กับยุคที่เป็น Single Stroke แล้ว คือขึ้นทีเดียวปกติเหมือนกล้องรุ่นหลังๆ รายละเอียดพวกนี้ควรศึกษาก่อนตัดสินใจซื้อด้วย

ราคาเฉพาะบอดี้กล้อง คร่าวๆราคาจะอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นบาท อันนี้แบบหยาบๆ มันอาจจะสูงกว่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพ , Serial อะไรอีกนะ รวมกับเลนส์ ถ้าเอาเลนส์ยุคมันหรือเลนส์ Voigtlander ยุคใหม่ๆรวมกันกับบอดี้แล้วจะตกราวๆ 4-5 หมื่นบาท  ถ้าจะเอาประหยัด ก็เช่นเคย.. หาเลนส์รัสเซียมาประกบกันไป จะอยู่ในงบไม่เกิน 3 หมื่นได้

Minolta Hi-matic F ( 1972 )

Minolta Hi-Matic F ปี 1972
Minolta Hi-Matic F ปี 1972

กลับมาสู่กล้อง Fixed Lens ต่อไป ถ้าพูดถึงกล้อง Rangefinder ที่วัยรุ่นไทยรู้จักมากที่สุด ก็คงไม่พ้นตัวนี้แหล่ะนะ  ( แม้ว่าช่วงนี้ ซีรีย์ ฮอร์โมน ปี2 จะไม่ค่อยถูกกล่าวถึงเจ้ากล้องนี่เท่าไหร่แล้ว ) เราเคยเขียนรีวิวถึงไปแล้วทีนึงในบทความ รีวิวกล้องฟิล์มแบบบ้านๆเวอร์ชั่นดวลหมัด  ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นกล้องที่ใช้ง่าย คุณภาพดี สเปคดี ใช้เลนส์ Rokkor 38mm. F2.7 ซึ่งก็โอเคสำหรับทุกสถานการณ์ จุดเด่นของมันคือมันเป็นระบบ Program AE ที่สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากจนไปถึงขนาด 4 sec ซึ่งทำให้มันถ่ายในที่ร่ม ที่แสงน้อยได้ดี ทดแทนการใช้เลนส์ที่ไม่ไวแสงมาก

ถึงช่องมองภาพของเจ้า Hi-matic F จะไม่ได้กว้าง ออกจะค่อนข้างเล็กไปหน่อย แต่มันก็มีข้อดีหลายๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องน้ำหนัก ที่เบาดีเหลือเกิน ขนาดก็พกพาสะดวกดี เหมาะกับคนที่ชอบถ่าย Snap เร็วๆ โฟกัสแล้วกดไปได้เลย ไม่ต้องคิดมาก ภาพออกมาดีเลยล่ะ การดูแลก็ง่ายๆ ถ่านที่หามาใส่อาจจะต้องดัดแปลงเล็กน้อย เราเคยเขียนถึงแล้วเช่นกัน ในบทความเรื่อง ปลุกชีพกล้องฟิล์ม ด้วยถ่ายสมัยใหม่

ราคาเจ้านี่ ส่วนตัวเราว่ามันแพงกว่าความเป็นจริงไปหน่อย แต่ก็อยู่ในราคาที่รับได้ ส่วนใหญ่จะอยู่ราวๆ 3 พันปลายๆ ถึง 4 พันกลางๆ ขึ้นอยู่กับสภาพด้วย และถ้าเป็นสีดำ ราคาก็จะแพงกว่าอีกหน่อย

Olympus 35 RC ( 1970 )

Olympus 35 RC ปี 1970
Olympus 35 RC ปี 1970

อีกตัวที่เราเขียนคู่กันกับ Minolta Hi-matic F ก็คือเจ้านี่แหล่ะ Olympus 35 RC กล้องจิ๋วที่คุณภาพไม่จิ๋วตาม ด้วยหน้าตาที่น่ารัก เป็นที่นิยมในหมู่สาวๆเก๋ๆมากมาย ส่วนตัวเราค่อนข้างชอบภาพที่ได้จากเจ้านี่มาก เพราะมันคมเหลือเชื่อ เจ้านี่ใช้เลนส์ E.Zuiko 42mm. F2.8 เป็นระยะที่เราโปรดปรานมาก เพราะการถ่าย Street ด้วยระยะนี้ มันจะพอดีๆ ไม่ใกล้ไป ไม่ไกลไป ข้อดีของ 35 RC คือมันมีทั้งระบบ Manual และระบบ Shutter Priority ด้วย เหมาะสำหรับคนชอบความซับซ้อนบ้าง ไม่ใช่กดกันอย่างเดียว ได้ปรับอะไรเองสักหน่อย

ข้อดีของมัน นอกจากจะให้ภาพคมๆ มีระบบ Manual ด้วยแล้ว ขนาดก็ถือเป็นจุดแข็งของมัน เพราะถือว่าเป็นกล้อง RF แบบ Manual ที่เล็กที่สุดในโลกก็ว่าได้ ทำให้พกไปไหนมาไหนสะดวก กิ๊บเก๋เป็นอย่างมาก แต่..ข้อเสียที่หนักหน่วงของมัน โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบถ่ายรูปในที่ร่มก็คือ มันมีความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดแค่ 1/15 sec เท่านั้น แม้ว่าจะมีชัตเตอร์ B มาให้ ก็ไม่มีประโยชน์ในสถานการณ์นี้ (จริงๆยอมไม่เอาชัตเตอร์ B แล้วเปลี่ยนเป็นความเร็ว 1/8 sec ยังดีซะกว่า) ถ้าใครรับกับปัญหานี้ได้ ก็โอเคเลยสำหรับกล้องตัวนี้ ( เคยเขียนเอาไว้แล้วว่า แนะนำคือให้ใช้ฟิล์ม ISO 400 ก็ได้นะ พอจะช่วยได้ )

ราคาปัจจุบัน หาได้ราวๆ 4 พันต้นๆขึ้นไป ในเมืองไทยไม่ค่อยเห็นแบบตัวสะสมที่มีกล่องอะไรมาพร้อม แบบนั้นจะแพงพอสมควร แต่ถ้าสภาพใช้งานก็ราคาประมาณนี้แหล่ะ ไม่สูงเกินไป

Olympus 35 DC (1971)

Olympus 35 DC ปี 1971 - 1974
Olympus 35 DC ปี 1971 – 1974

เป็น Olympus รุ่นที่เราเคยเขียนถึงเมื่อนานแล้วล่ะ (อ่านได้ในบทความ รีวิวกล้องฟิล์มแบบบ้านๆ Olympus 35 DC ) ตั้งแต่คนไม่นิยมเล่นกันเลย จนตอนนี้คนถามถึงกันเยอะมาก นี่ถ้ารุ่นนี้เป็นกล้องใหม่ เราอาจจะได้ค่าสปอนเซอร์จาก Olympus ก็เป็นได้ ฮาๆๆ เจ้า 35 DC เป็นกล้องที่เหนือความคาดหมายของเรามาก ตอนที่ได้กล้องตัวนี้มา เห็นสเปคมันก็เฮ้ย.. เลนส์ไวแสงดีจัง เลือกใช้เลนส์ แบบ Fixed Lens F.Zuiko 40mm. F1.7 เจ๋งไปเลยๆ

เจ้า Olympus 35 DC เป็นระบบ Program AE โฟกัสแล้วกดถ่ายได้เลย ไม่ต้องคิดมาก แต่แอบมีฟังค์ชั่นลับคือ BLC (Black Light Control) แทนการเพิ่มค่า EV +1.5 ช่วยเพิ่มความสว่างในการถ่ายแบบย้อนแสง หรืออะไรก็ตามที่เราอยากให้มัน Over อีกสัก 1.5 เจ๋งไปเลยล่ะ เราชอบมาก

ความเร็วชัตเตอร์ของ Olympus 35 DC แม้ว่าจะให้มาแค่ 1/15 sec แต่ก็เพียงพอกับความต้องการเพราะเลนส์ไวแสงมาก เราเคยเทสที่มืดด้วยฟิล์ม ISO 200 ทั่วไป ก็ถ่ายได้สบายๆ  แถมเลนส์มันก็คมมากด้วย ตอนหลัง Olympus ได้พัฒนาเจ้า 35 DC เป็นรุ่น  35 RD โดยเพิ่มระบบ Manual เข้าไปด้วย เป็นกล้อง RF รุ่นสุดท้ายของ Olympus และก็กลายเป็นกล้อง RF ที่มีราคาในตลาดสูงและหายากมากด้วย

Olympus 35 DC เหมาะกับใคร? เหมาะกับคนที่ชอบถ่ายง่ายๆ Snap เร็วๆแต่อยากได้ภาพดีๆ แอบมีเทคนิคพลิกแพลงได้นิดหน่อย ซึ่งเราว่าเพียงพอกับการพกไปไหนต่อไหนเลยนะ คุ้มมากๆ

ราคาของเจ้านี่ปัจจุบันอยู่ในขาขึ้นซะงั้น เราเห็นเค้าขายกันที่ 4 พันต้นๆ จากเดิมก็อยู่ราวๆ 3 พันต้นๆนะ ก็เอาเป็นว่าถึงราคาจะขึ้น แต่ก็ยังคุ้มค่ามากอยู่ดีกับสเปคขนาดนี้

Canon QL17 GIII (1972)

Canon QL17 GIII ( เครดิตภาพจาก vintagecameralab.com )

ถ้าจะว่าไป กล้อง Rangefinder ระดับแนวหน้า มันก็มีอยู่ไม่กี่รุ่นที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เจ้า Canon QL17 GIII นี่ก็เป็นหนึ่งหรืออาจจะเรียกว่าบ่อยที่สุดตัวนึง ที่ถูกพูดถึงกล้องแบบ Fixed Lens เลยได้นะ เพราะสเปคที่สุดยอดของมัน คุณภาพภาพที่สุดๆ จนเป็นกล้องตัวนึงที่คนชอบเรียกว่า “Leica คนจน” ( มีหลายตัวเหลือเกินที่ถูกเรียกแบบนี้ ) เพราะในยุคนั้น กล้องพวกนี้มีราคาถูกเมื่อเทียบกับ Leica แต่คุณภาพนี่ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง

Canon QL17 GIII จริงๆแล้วพัฒนาเป็น Gen ที่ 3 จาก QL17 นี่แหล่ะ ซึ่งสเปคก็ไม่ต่างกัน ปรับเปลี่ยนเรื่องหน้าตาและฟังก์ชั่นบางอย่างนิดหน่อย (ถ้าใครไม่แคร์ ก็เลือก QL17 เฉยๆก็ได้ เพราะถูกกว่าพอสมควรเลย) จนกลายเป็นกล้อง Rangefinder แบบ Fixed Lens ที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์กล้อง (ถ้านับเป็นรุ่นเดียว) ขนาดน้าน…

สเปคเลนส์ของมันคือ 40mm. F1.7 มีความเร็วชัตเตอร์ตั้งแต่ 1/4 ไปถึง 1/500 sec แถมด้วยชัตเตอร์ B มีระบบ Manual และ Shutter Priority ให้ เรียกว่าครบเครื่องแล้วล่ะกับการใช้งานทุกประเภท จะถ่ายแนวไหนก็ใช้งานครอบคลุมหมด

จุดที่เราชอบที่สุดของเจ้านี่คือมันมี AE Exposure Lock ให้ด้วย คือก็เหมือนกล้องสมัยนี้แหล่ะ กดค้างครึ่งนึงเพื่อให้วัดแสงในจุดที่เราอยากได้แสงระดับนี้ แล้วลากไปจุดที่เราจะถ่ายอีกทีนึง ทำให้ได้แสงในแบบที่เราต้องการ

Canon QL17 GIII เป็นกล้องขนาดตัวใหญ่สำหรับกล้อง Rangefinder ด้วยกัน ไม่ได้เล็กขนาดจะพกใส่กระเป๋ากางเกงอะไรแบบนี้ จะใส่กระเป๋าสะพายก็ต้องใบใหญ่สักเล็กน้อย แต่ถ้าเทียบกับพวกกล้อง SLR แล้วน่ะ.. Rangefinder มันก็ยังพกได้ง่ายกว่าอยู่ดี

กล้องตัวนี้ เหมาะกับคนที่ถ่ายจริงๆจังๆ ทั้งละเมียดถ่าย หรือจะ Snap ก็ได้ทั้งนั้น เพราะระบบกล้องครอบคลุมหมด จะอยากได้หน้าชัดหลังเบลออะไรก็ทำได้ เลนส์กว้างซะขนาดนี้ สวยเลยล่ะ

ราคานี่ เจ้าตัวนี้ราคามีแต่ขาขึ้นมานาน เพราะเป็นรุ่นสุดฮิตในตลาดโลก ในเมืองไทย เราเห็นคนขายกันราคาค่อนข้างหลากหลาย บางคนขายตามราคาที่เคยได้มาสมัยก่อน ก็จะปล่อยได้ถูก ใครรู้ราคาตลาดก็ปล่อยแพงหน่อย มีตั้งแต่ 4 พันยัน 6-7 พันโน่น ยิ่งถ้าเป็นสีดำด้วยนะ ก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก ก็ต้องรอจังหวะกันดีๆ

Yashica Electro 35 ( 1966 – 1977 )

001

สำหรับอันดับ 2 ไอ้นี่ก็เคยเขียนถึงไปแล้ว อ่านได้ในบทความ รีวิวกล้องฟิล์มแบบบ้านๆ Yashica Electro 35 เค้าว่าถ้าเอา Yashica Electro 35 ทั้ง G ซีรีย์รวมกัน ยอดขายของมันจะสูงที่สุด ถึง 8 ล้านตัวตลอด 10 ปีที่มันขาย  Yashica มันมี Electro 35 เยอะมาก ลงท้ายด้วย G , GS , GSN , GTN แล้วยังมีอื่นๆเช่น CC , CCN , GX โอ้ยยย ล้านแปดจำกันไม่หวัดไม่ไหว

Yashica สำหรับเรา ถือเป็น Rangefinder แบบ Fixed Lens ที่ต่างจากยี่ห้ออื่นๆชัดเจน คือมันมีระบบที่เป็นเอกลักษณ์มากนั่นคือ Aperture Priority การที่เลือกรูรับแสงเองแล้วกล้องจะเลือกความเร็วชัตเตอร์ให้ ไอ้ระบบนี้หาได้ยากมากในกล้อง Rangefinder เพราะส่วนใหญ่จะใช้ระบบวัดแสงในตัวที่อ้างอิงรูรับแสงเป็นหลัก ทำให้กล้อง Rangefinder ส่วนใหญ่จะใช้ระบบ Shutter Priority ( อย่างเช่น Olympus นี่ก็เป็นระบบนี้ทั้งหมด )

ซึ่งส่วนตัวเรา เราชอบ Aperture Priority มากกว่า มันควบคุมพวกชัดตื้นชัดลึกได้ดีกว่าเยอะ แต่ปัญหาก็คือ จะมีกล้อง RF สักกี่ตัวที่ใช้ระบบนี้? เพราะฉะนั้นถ้ามองหาฟังก์ชั่นนี้ล่ะก็.. ขอเชิญ Yashica ได้เลย

Yashica Electro 35 G ซี่รี่ย์ทั้งหลายแหล่ จะใช้เลนส์ Yashinon DX 45mm. F1.7 นอกจากโคตรคมโคตรสว่างกว้างแล้ว ความเร็วชัตเตอร์พี่แกยังใส่มาให้ต่ำสุดถึง 30 sec หรือครึ่งนาที! บ้าไปแล้ว! ไม่ต้องกลัวว่าจะมืดเลยนะ ( แต่ไม่มีระบบ Manual ให้นะ อย่าลืม ) ความคมนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ส่วนตัวเราว่ามันคมที่สุดในบรรดา Rangefinder เกรดเดียวกัน จะว่าคมไปด้วยซ้ำ ถ้าจะถามว่าตัวไหนเหมาะกับฉายา “Leica คนจน” ที่สุด เราขอยกให้ไอ้เจ้านี่เลยล่ะนะ

คนที่เหมาะจะใช้มัน ก็ต้องชิวๆหน่อยนะ ตัดเรื่องการพกพาไปได้เลย อย่าเรียกว่าพก ต้องเรียกว่าแบกหามนะ แม้การใช้งานจะสะดวก แต่น้ำหนักกับขนาดก็เหมาะจะพาไปเที่ยวมากกว่าเดินเรื่อยเปื่อย

ข้อเสียของ Yashica Electro 35 G ทั้งหลายแหล่ก็อย่างที่บอกคือ มันใหญ่และหนักมาก! ตัวใหญ่พอๆกะ SLR เลยล่ะ และหนักราวๆ 7-8 ร้อยกรัม เฉียดกิโลเข้าไปทุกที แต่ก็คุ้มกับภาพที่ได้นะ แถมราคาเนี่ย ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ราวๆ 3 พัน ถึง 3 พันปลายๆ ไม่เกินนี้แน่นอน

แต่ถ้าใครติดว่ามันใหญ่และหนักไป เราขอแนะนำ Yashica Electro 35 CC และ 35 CCN เจ้าสองตัวนี้มีขนาดเล็กกว่า และเบากว่าพอสมควร ( แต่มันไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยนะ หาจุดต่างกันไม่เจอ ) ใช้เลนส์ Yashinon 35mm. F1.8 ซึ่งออกแนว Wide กว่าพวก G ซีรีย์ หลักการทำงานเดียวกันคือเป็น Aperture Priority มีความเร็วชัตเตอร์ตั้งแต่ 1/8 – 1/250 sec (ก็เป็นข้อเสียเล็กน้อย ที่มีความเร็วชัตเตอร์ต่ำไปหน่อย) คุณภาพภาพอาจจะแตกต่างจาก G ซีรีย์ไปบ้าง เพราะเลนส์อันนั้นจะคมกว่าล่ะ แต่แลกกับการพกได้ก็เอาล่ะ

ราคาของเจ้านี่จะสูงกว่า G ซีรีย์ อยู่ราวๆ 3 พันปลายๆขึ้นไปถึง 4 พันปลายๆ (แต่ถ้า CCN จะหายากหนักเข้าไปอีก อาจจะราคาสูงกว่านี้)

Olympus 35 SP (1969)

Olympus 35 SP ปี 1969 ที่ใช้ทดสอบในวันนี้
Olympus 35 SP ปี 1969

อันดับ 1! ถ้าใครติดตามอ่านเรามาในหลายๆบทความ จะเห็นว่ากล้องที่เราชอบมากที่สุดเสมอก็คือ Olympus 35 SP จนใครๆก็แซวว่าเป็นเอเย่นขาย Olympus แหม่.. อยากย้อนยุคไปสมัยที่มันวางขายจริงๆ กลับไปขอตังช่วยโปรโมต ฮาๆ…

สุดยอด Rangefinder ในใจเรานี่ เราก็เคยเขียนถึงอีกเหมือนกันในบทความ รีวิวกล้องฟิล์มแบบบ้านๆ เมื่อกล้องฟิล์ม Olympus ทั้ง 3 มาเจอกัน เหตุผลที่มันเจ๋ง ก็ง่ายๆ ในยุคที่มันเกิดมา Olympus ยัดเอาทุกเทคโนโลยีที่จะมีได้ลงไปในนั้น จนมันแตกต่างกว่าชาวบ้านชาวช่อง อะไรบ้างน่ะเหรอ?

  1. มันใช้เลนส์ G.Zuiko 42mm. F1.7 แถมเป็นการออกแบบที่ใช้เลนส์ 7 ชิ้นด้วย!
  2. ไม่ใช่แค่มันมีระบบ Manual เฉยๆ แต่มันยังมี AE Program และ Shutter Priority อีกต่างหาก 3 โหมดในตัวเดียว หาได้ที่ไหน..
  3. ระบบ Manual ของมันไม่ธรรมดา ปกติกล้อง Rangefinder ที่มีระบบ Manual ระบบวัดแสงของกล้องจะไม่ทำงานเลยในระบบนี้ เพราะถูกออกแบบเพื่อรองรับระบบออโต้ต่างๆของกล้องเท่านั้น แต่ Manual ของ 35 SP สามารถดูวัดแสงไปด้วยได้ เพราะมันใช้บอกเป็นค่า EV ทำให้ระบบวัดแสงทำงานตลอดในทุกโหมด สุดโคตร!!
  4. ระบบวัดแสงมี 2 ระบบ คือวัดค่าเฉลี่ยกลางปกติ และ  Spot Meter ที่วัดเจาะเป็นจุดแคบๆได้ในจุดที่เราต้องกาวัดเฉพาะ ซึ่งขนาด Leica ยังหายากเล๊ยย เทพมั๊ยล่ะ..
  5. ถ้าไม่มีถ่าน มันก็ทำงานได้ แค่วัดแสงไม่ทำงาน อันนี้เป็นเหตุผลที่หลายๆคนเลือกระบบ Manual นะ

แค่นี้ก็พอแล้วว่าทำไมเราถึงชอบที่สุด แถมด้วยระยะประมาณ 42mm. ที่กำลังดี จะถ่าย Street มันค่อนข้างพอดีๆ และขนาดกล้องเองก็ไม่ใหญ่ ไม่หนักจนเกินไป อาจจะพกไม่ได้ขนาด 35 DC หรือ RC แต่มันก็โอเคที่เราจะสะพายไปไหนต่อไหน

Olympus 35 SP เหมาะกับคนที่ใช้งานแบบไหน? เราว่าได้หมดเลย จะละเอียด จะ Street รวดเร็ว ได้หมด แต่อาจจะไม่เล็กขนาดพกใส่กระเป๋ากางเกงได้นะ แต่ก็เดินเที่ยวเล่นเรื่อยเปื่อยตามถนน สบายๆ มีโหมดให้เลือกใช้ตั้ง 3 โหมด ครอบคลุมหมดอยู่แล้ว

ราคา ไอ้นี่สิ…ปัญหา ราคาของ Olympus 35 SP สูงกว่าชาวบ้านชาวช่อง ปกติเลยนะเริ่มต้นที่ 6 พันปลายๆ ถ้าสภาพดีๆพร้อมซองหนัง , ฝาปิดแท้ (คือฝาปิดแท้มันเนี่ย… อย่างแพงนะจะบอก) ก็ไปถึง 8 พันได้ และยิ่งถ้าสีดำด้วยละก็… หลักหมื่นขึ้นนะ แถมด้วยว่ามันหายากพอสมควร

สรุปจบแล้ว สำหรับบทความที่มาทำความรู้จักกล้อง Rangefinder กัน ส่วนตัวเราชอบกล้องประเภทนี้ที่สุด ถ้าใครได้ลองใช้จะเข้าใจว่าทำไม? ถึงมีช่างภาพหลงรักเจ้ากล้องประเภทนี้เยอะจัง อย่างเราเองก็ค่อนข้างไม่ค่อยชอบใช้กล้อง SLR นะ ทั้งๆที่มันสะดวกเวลาถ่ายอะไรให้มันสวยๆ ก็ถ่ายได้ง่าย แต่เราไม่เอา เพราะเราว่า Rangefinder มันท้าทาย มันได้คิด ได้จินตนาการ ได้คิดตามเยอะ ลองดูนะ ถ้าใครอยากรู้จักมัน ลองเลือกดูสักตัวอย่างที่เราแนะนำไปนี่แหล่ะ

บทความ โดย SUN

ผู้สนับสนุนหลัก  Husband and Wife Shop

จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

Leave a Reply