“ถ้ารูปคุณยังไม่ดีพอ แสดงว่าคุณยังเข้าใกล้ไม่พอ” ประโยคเด็ดที่มักจะลอยมาในสมอง ระหว่างที่เราพยายามฝึกฝนการถ่ายรูปแนวสตรีทอย่างจริงจัง หลายๆครั้งมักจะเจอว่า รูปที่คิดว่าน่าจะดี กลับออกมาไม่ดี ก็ประโยคนี้แหล่ะ ที่ทำหน้าที่เสมือนไม้เรียวของคุณครูคอยหวดอยู่ในสำนึก

http://www.magnumphotos.com
Robert Capa ตำนานช่างภาพที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง เป็นคนพูดประโยคที่ว่านี้ไว้เมื่อนานมาแล้ว ถ้าอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ปู่ Capa ก็น่าจะอายุสักร้อยนิดหน่อยแล้ว อะไร..ทำให้คุณปู่เป็นตำนาน นอกจากความเก๋าแล้ว แกยังมีความเก๋ในชีวิตมากมาย หล่อเฟี้ยวเปรี้ยวจี๊ด แต่ลุยเสี่ยงตายถึงที่สุด จนอยากให้มีผู้กำกับสักคน หยิบเรื่องของแกมาทำเป็นหนังสักเรื่องจริงๆ
Robert Capa เป็นคนฮังการี พ่อแม่แกเปิดร้านเสื้อผ้าแฟชั่นที่บุดดาเปส เรียกได้ว่าดังพอตัวในเรื่องการออกแบบและคุณภาพเลยล่ะ คนใหญ่คนโตก็ชอบมาตัดกันที่ร้านนี้ แม่แกนี่ค่อนข้างมีความเป็นนักธุรกิจสูง เข้าใจเรื่องการเข้าหาคน วิ่งหารูปแบบดีไซน์ใหม่ๆมาอะไรแบบนี้ (แนวๆว่าแม่เป็นหัวหน้าครอบครัว) ก็เรียกว่าช่วงที่ Capa โตมานี่ ที่บ้านจะยุ่งมากจนไม่มีเวลาดูแลลูกๆเท่าไหร่ ทำให้แกมีอิสระสูง
ช่วงวัยพรีทีน แกมีเพื่อนสาวคนสนิทคนหนึ่ง ชอบถ่ายรูปด้วยกล้อง Kodak Brownie มาก จน Capa เลยพลอยกลายเป็นนายแบบประจำตัวไปโดยปริยาย ตอนหลังสาวคนนี้ก็เลยไปเรียนและเป็นช่างภาพอย่างจริงจังในแนว Portrait , Landscape และเป็นแรงผลักดันหนึ่งในการที่ทำให้ Capa อยากเป็นช่างภาพเช่นกัน ช่างภาพคนนี้ชื่อ Eva Besnyö (และยังมีส่วนสำคัญที่พาให้ Capa เข้าสู่วงการช่างภาพข่าวได้ในเวลาต่อมา)

ช่วงปี 1929 ที่เศรษฐกิจโลกล่มสลาย ส่งผลโดยตรงกับครอบครัว Capa จากที่เคยมีอันจะกิน ก็กลายเป็นลำบาก โดยเฉพาะแม่ ที่เป็นเหมือนหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้าน สถานะก็เปลี่ยนไป
ในช่วงวัยรุ่น ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองในประเทศและรอบๆยุโรปที่คุกรุ่น Capa ได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญมากที่ทำให้เขาเบนเข็มเข้าสู่การเป็นช่างภาพข่าว นั่นคือ Lajos Kassák ซึ่งตอนนั้นอายุ 42 ปี ในขณะที่แกอายุแค่ 17-18 ปีเท่านั้น

Lajos เป็นนักเขียน เป็นพวกสังคมนิยม ทำกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด เขาตีพิมพ์ภาพต่างๆของช่างภาพลงในนิตยสาร Munka ที่แสดงให้เห็นความยากจนของคนฮังการี ซึ่งงานเหล่านี้แหล่ะ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Capa ในเวลาต่อมา
จนกระทั่งปี 1930 Capa เริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น จนถูกจับที่มีส่วนเกี่ยวพันกับฝ่ายซ้าย จนแม่ต้องหาวิธีช่วย ซึ่งแม่แกมีคอนเนคชั่นเยอะอยู่จากลูกค้าที่ตัดเสื้อผ้านี่แหล่ะ แต่เมื่อออกมาได้ Capa ก็ต้องหนีออกนอกประเทศโดยทันที แบบที่ไม่มีอะไรติดตัวเลย
Capa หนีออกมาอยู่ที่เบอร์ลิน และร่ำเรียนด้านนักข่าวที่ German Political College แต่ครอบครัวแกก็ไม่มีตังเข้าไปทุกทีๆ สุดท้าย แกก็เลยต้องออกหางานทำ โดยได้รับการแนะนำจาก Eva เพื่อนเก่าแก่ของแกที่เล่าไปนั่นแหล่ะ พาไปฝากเป็นผู้ช่วยในห้องมืดที่ Dephot ซึ่งที่นั่นเอง เป็นที่ที่แกได้ฝึกฝนทุกอย่าง ตั้งแต่การล้างฟิล์ม อัดภาพ และการใช้กล้อง 35mm. ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ในยุคนั้น เพราะที่นี่เขาต้องการความคล่องตัวในการออกไปหาข่าว เจ้ากล้อง 35mm. ในตอนนั้นก็หมายความถึงกล้อง Leica อะไรแบบนั้นนั่นแหล่ะ ถือเป็นกล้องขนาดเล็กและฉับไวมากในยุคนั้น (Capa แกตั้งความเร็วชัตเตอร์ล่อไป 1/1000 ตลอดเลยทีเดียว)

ปี 1934 Capa มีแฟนเป็นตัวเป็นตนที่ชื่อ Gerda Taro ซึ่งเป็นนักข่าวและ Capa เป็นคนสอนถ่ายรูปให้ จนปี 1936 ที่ทั้งคู่ตัดสินใจไปถ่ายภาพข่าวด้วยกันในสงครามกลางเมืองสเปนแบบ Freelance เลย ไม่มีใครจ้าง และช่วงนั้นเอง ที่ Capa ได้สร้างผลงานอันลือลั่นชิ้นหนึ่ง “The Falling Soldier” (ซึ่งมันเจ๋งมากจนมีคนสงสัยว่าเป็นการโพสท่าหรือเปล่าเลยทีเดียว)

Gerda ถือได้ว่าเป็นช่างภาพสงครามผู้หญิงคนแรกที่ออกไปถ่ายถึงแนวรบ และสุดท้าย Gerda ก็เสียชีวิตจากการชนของรถถังระหว่างการจู่โจมทางอากาศ ด้วยอายุเพียง 26 ปีนั่นเอง การตายของ Gerda ทำให้ Capa เสียใจและเศร้าซึมมาก
จริงๆแล้ว ในสงครามครั้งนั้น ช่างภาพอีกคนที่ถือได้ว่าเป็นเพื่อนซี้ของทั้งสอง ได้ออกไปร่วมถ่ายภาพในครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือ David Seymour หรือที่เพื่อนๆเรียกว่า Chim ( ช่างภาพในตำนานอีกคน ที่ต่อมาภายหลังจะมีบทบาทในชีวิตของ Capa อีกครั้ง ) สิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่อง Mystery (คือนึกคำที่มันตรงๆไม่ถูก เช่น ลี้ลับ แม่งก็ไม่ลี้ลับ จะบอกว่าแปลกก็ใช่ แต่ฟังดูธรรมดาไป เอาเป็นว่า Mystery ละกัน) ของทั้งสามคนที่ต้องพูดถึงต่อประวัติศาสตร์เรื่องนี้ก็คือ The Mexican Suitcase กระเป๋าที่ได้เก็บฟิล์มจากการถ่ายของทั้งสามในสงครามกว่า 4,500 รูปตลอดสามปี ซึ่งมันได้ล่องหนไปตั้งแต่บัดนั้น จนกระทั่งเพิ่งมาค้นพบเมื่อปี 2007
เพราะในการทำภาพข่าวในสงครามครั้งนั้น ยากลำบากมากในการส่งภาพข่าวต่างๆออกไป พวกเขาทำได้แค่ส่งบางรูปทางจดหมายไปเพื่อตีพิมพ์ แต่ฟิล์มจำนวนมากยังไม่สามารถแอบขนออกมานอกสงครามได้
The Mexican Suitcase คือกล่องกระดาษแข็ง ปลอมแปลงหน้าตาให้ดูคล้ายๆกระเป๋าใส่เสื้อผ้า จำนวนสามกล่อง บรรจุเอาฟิล์มที่ถูกถ่ายแล้ว ส่งจากแนวหน้าในสงครามมาให้ Cziki Weisz ที่ปารีส เพื่อนของพวกเขาทำการล้างและอัดรูปออกมา
Weisz จึงทำการล้างฟิล์มและบรรจุรูปแต่ละม้วนลงในกล่องนี้ และทำเป็นดรรชนีให้ดูว่า ช่องไหนคือรูปอะไร และมันก็ถูกเก็บไว้เงียบๆ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นกว่า 70 ปี โดยไม่มีใครอื่นได้เห็น!




ปี 1944 อีกก้าวสำคัญที่ส่งให้ Robert Capa กลายเป็นตำนานช่างภาพอย่างเต็มตัว Capa คือช่างภาพสุดระห่ำที่ใส่ชุดทหารออกไปกับกองทัพที่พร้อมบุกขึ้นหาดโอมาฮา หรือที่รู้จักกันในชื่อวัน D-Day
ถ้าใครยังจำฉากเปิด 5 นาทีสุดสลดใจของหนัง Saving Private Ryan ก็ลองจินตนาการว่า Capa คือหนึ่งในคนที่เสี่ยงตายเข้าไปในจุดนั้น (และภาพของ Capa ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของ Steven Spielberg ในการสร้างฉากนั้นเช่นกัน)
วันที่ 6 มิถุนายน 1944 Capa และช่างภาพอีก 9 คน ร่วมเดินทางไปในสมรภูมินั้น เสมือน Capa ร่วมรบกับทหารทั้งหลาย แต่อาวุธของแกคือกล้อง Contax II สองตัว พร้อมเลนส์ 50mm. Capa มากับกองบุกระลอกที่ 2 แล้วลงจากเรือที่ห่างจากหาดราวๆ 100 หลา เดินลุยน้ำที่สูงราวๆเอว ฝ่าห่ากระสุนที่กราดยิงไม่หยุดหย่อน ตลอดเวลา 90 นาทีของ Capa ในสนามรบที่เต็มไปด้วยทหารที่ล้มตายมากมาย

เรื่องราวที่ตื่นเต้นยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น เมื่อฟิล์มของช่างภาพทุกคนที่ถูกส่งกลับไปก่อน สูญหายทั้งหมด เพราะระหว่างที่เดินทางกลับนั้น ทหารนายหนึ่งโยนกระเป๋าสัมภาระของช่างภาพทิ้งไปในทะเล เหลือเพียงฟิล์มที่ Capa ติดตัวไว้ เพราะลุยถ่ายมาจนถึงหาด ซึ่งแกถ่ายไปราวๆ 106 ภาพ (จำนวนนี้ไม่มีใครระบุแน่นอนสักคน แต่ตัวเลขนี้ก็น่าจะใกล้เคียงที่สุด)
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ Capa ส่งฟิล์มทั้งสี่ม้วนที่เหลือกลับไปให้ John Morris ซึ่งเป็น Picture Editor ของแกที่ลอนดอนเพื่อที่จะล้างและพิมพ์ภาพ Morris รีบส่งต่อไปที่แล็บล้างฟิล์ม เพื่อทำเวลาต้นฉบับ Life Magazine ให้ได้ตีพิมพ์ทัน แค่แป๊ปเดียวเท่านั้น ที่แล็บโทรมาบอกกับ Morris ว่า ฟิล์มมีแต่ความว่างเปล่า…!! (ซึ่งแล็บโทษว่าเพราะ Morris มาเร่งพวกเขา)
เมื่อ Morris ไปดูเองกับตาก็พบว่า โชคยังเข้าข้างที่ม้วนสุดท้ายพอจะมีรูปเหลืออยู่ 11 รูป ซึ่งคนทั้งโลกรู้จักรูปเซ็ตนี้ว่า “The Magnificent Eleven” โดย Life Magazine ตีพิมพ์มันทั้งหมดในวันที่ 19 มิถุนายน 1944

และภาพที่โดดเด่นที่สุดของ 1 1 รูปนี้ ก็คือรูปที่ชื่อว่า “The Face in the Surf” ซึ่งทหารที่อยู่ในภาพนั้นคือ Huston Riley

Capa ถ่ายได้ในขณะที่ Huston พยายามเข้าฝั่ง เขาใช้เวลากว่า 30 นาทีเพื่อบุกไปถึงฝั่ง Huston ซึ่งก็ถึงฝั่งได้พร้อมกระสุน 4 นัดที่ถูกฝากเอาไว้ที่ไหล่ และอีก 2 นัดที่ตัว แต่โชคดีที่ยังไม่ตาย
ปี 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลง Capa อายุ 32 ปี เดินทางไปปารีส ระหว่างที่กำลังนั่งดื่มอยู่ที่บาร์ของโรงแรม Ritz สายตาของ Capa ก็ไปสะดุดกับดาราสาวสวยชื่อดังในยุคนนั้นที่ชื่อ Ingrid Bergman ซึ่งกำลังเดินสายรอบยุโรปเพื่อยินดีกับเหล่าทหาร แทบจะทันทีนั้นเอง Capa แนบการ์ดที่เขียนข้อความชวน Ingrid ดินเนอร์สอดไว้ที่ประตูห้องของเธอ และไม่นานหลังจากนั้น ทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกัน แม้ว่า Ingrid ….แต่งงานมีครอบครัวแล้ว

ปีนั้น Ingrid เพิ่งจะชนะรางวัลออสการ์มาสดๆร้อนๆจากเรื่อง Gaslight ความดังของเธอยิ่งส่งให้นิยายรักของทั้งคู่ยิ่งดูน่าหลงใหล ปี 1946 Ingrid ต้องกลับไปฮอลลีวูดเพื่อถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ของ Alfred Hitchcock ที่ชื่อว่า Notorious เธอชวนให้ Capa ตามเธอไปที่ฮอลลีวูด และ Capa ก็ไม่ปฏิเสธ
Capa หลงรัก Ingrid อย่างจัง แกเดินทางตามเธอไปอยู่ในกองถ่ายด้วย คอยถ่ายรูปให้มากมาย ซึ่งหลายๆรูปจากหนังเรื่องนี้ ก็เป็นฝีมือของ Capa นี่แหล่ะ แต่ไม่ประสงค์ออกนาม..เพราะจะกระโตกกระตากเกินงาม
ชีวิตในกองถ่ายช่วงนั้น น่าเบื่อเกินไปสำหรับ Capa เมื่อเทียบกับความระทึกของสงคราม Ingrid เองก็ไม่สามารถแสดงตัวว่าคบกับ Capa อย่างออกหน้าออกตาได้ แกจึงต้องคอยอยู่ในสังคมฮอลลีวูดอย่างเนียนๆ ซึ่งคุณสมบัติของ Capa ก็เพรียบพร้อม ทั้งหน้าตา บุคลิกและ ชื่อเสียง มันยังตลกต่อที่ว่า Capa แกว่างและสนิทกับคนในฮอลลีวูดถึงขนาดได้ไปเล่นหนังเรื่อง Temtation อีกต่างหาก

ด้วยช่วงเวลาที่พะอืดพะอมนั้น ทำให้ Capa รู้ตัวว่า ตัวเองไม่ได้เหมาะกับสังคมแบบนี้เลย และคำตอบยิ่งชัดเจน เมื่อ Ingrid อยากจะแต่งงานกับ Capa และอยากให้แกออกจากงานมาอยู่ด้วยกันในฮอลลีวูด
สุดท้าย นิยายรักระดับฮอลลีวูดเจ้าหญิงเจ้าชายเรื่องนี้ก็จบลง Capa เลือกที่จะเดินทางไปทำงานต่อที่ตุรกี
ว่ากันว่า หนังเรื่อง Rear Window หนังคลาสสิคระดับต้นๆของ Alfred Hitchcock ที่ฉายในปี 1954 นั้น Hicthcock เอาบุคลิกตัวพระเอกที่เป็นช่างภาพ มาจาก Capa ที่เป็นช่างภาพเหมือนกันและไม่ได้เอาใจใส่สาวสวยเท่าที่ควร
** ความรักระหว่าง Robert Capa และ Ingrid Bergman จะถูกนำไปสร้างเป็นหนัง โดยดัดแปลงจากหนังสือ “Seducing Ingrid Bergman” กำกับโดย James Mangold ( ผู้กำกับเรื่อง Walk the Line , The Wolverine ) แต่เสร็จเมื่อไหร่ยังไม่รู้นะ **
ปี 1947 เป็นปีที่สำคัญของวงการภาพถ่ายทั่วโลก นั่นคือการก่อตั้งเอเจนซี่ช่างภาพที่นับได้ว่า ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก Magnum Photos

การทำงานสายช่างภาพข่าว ทำให้ทั้ง Robert Capa และ David Seymour หรือ Chim เพื่อนซี้แกนั่นล่ะ รู้ดีว่า การทำงานถ่ายภาพที่จะช่วยให้ช่างภาพที่มีฝีมือคนอื่นๆอยู่รอดได้ ก็คือการถ่ายภาพข่าว เพราะโลกในยุคนั้น ยังไม่มีทีวีด้วยซ้ำ การที่คนทั้งโลกจะได้เห็นภาพสำคัญๆต่างๆ ย่อมต้องอาศัยคนอย่างพวกเขา ผ่านสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สองคนนี้ ที่เป็นผู้บ้าบิ่นออกไปถ่ายรูปในสนามรบต่างๆมาให้คนทั้งโลกได้เห็น)
Magnum จึงเกิดขึ้นด้วยไอเดียของ Capa และการพูดคุยกับ Bill กับ Rita Vandivert รวมถึง Maria Eisner ก็ทำให้ก่อเกิดเป็น Magnum อย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา โดยรวบรวมเอาช่างภาพมีฝีมือ Robert Capa , David Seymour , Henri Catier-Bresson , George Rodger โดยแต่ละคนก็คุมพื้นที่แต่ละโซน เช่น Chimp ก็คุมพื้นที่ในโซนยุโรป อะไรแบบนั้น
จุดสำคัญของเอเจนซี่ก็คือ ช่างภาพต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งาน ไม่ว่างานนั้นจะถูกตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ใด ทำให้ช่างภาพมีปากมีเสียง มีอิสระ มีสิทธิ์ขาดในการเลือกขายของตัวเอง และสื่อสิ่งพิมพ์ก็สามารถเข้ามาเลือกหาภาพที่ตรงกับความต้องการตัวเองได้ ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการช่างภาพครั้งใหญ่ Magnum คือการปลดแอกให้กับเหล่าช่างภาพมีฝีมือ ให้พ้นจากการถูกกดขี่จากสื่อ ที่ช่างภาพนอกจากจะมีรายได้ที่มากขึ้นแล้ว ก็ยังสามารถทำงานศิลปะในทิศทางของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ( Capa ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานของ Magnum ในปี 1951 )
ปี 1954 แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ Capa ก้าวมาถึงจุดสูงสุดในชีวิต ไม่ว่าจะหน้าที่การงาน (Capa ทุ่มการโปรโมตกับ Magnum อย่างเต็มที่) ชื่อเสียงที่กลายเป็นช่างภาพโด่งดังที่คนทั้งโลกรู้จัก แต่ Capa ก็โหยหาความตื่นเต้นในการเป็นช่างภาพสงคราม
ในขณะที่ Capa เดินสายโปรโมต Exhibition ของ Magnum ที่ญี่ปุ่น ทาง Life Magazine ก็ติดต่อมาว่าต้องการส่งให้ Capa เข้าไปในสงครามอินโดจีนที่เวียดนาม ซึ่งก็ตรงใจ Capa และแกเองก็ต้องการที่จะโปรโมตให้เป็นงานชิ้นเอกของ Magnum เช่นกัน

Capa เข้าไปในพื้นที่ Thai-Binh (ไถบิ่ง) โดยร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส มีช่างภาพจาก Time และ Life อีกสองคน นั่นคือ John Mecklin และ Jim Lucus
ในวันที่ 25 พฤษภาคม 1954 ขณะที่ Capa ติดตามทหารออกไปลาดตระเวน โดยนั่งไปในรถ Convoy ของช่างภาพ แม้ว่าทหารจะย้ำกับแกเสมอว่า ‘ห้ามออกมานอกตัวรถ Convoy เด็ดขาด’ แต่ด้วยคติประจำใจของ Capa “ถ้ารูปคุณยังไม่ดีพอ แสดงว่าคุณยังเข้าใกล้ไม่พอ” ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างห้ามแกไม่ได้
Capa ออกไปนอกรถ Convoy เพื่อจะเดินตามถ่ายรูปทหาร Capa เหยียบกับระเบิดที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ และเสียชีวิตลงก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ ว่ากันว่าแม้ Capa จะเหยียบกับระเบิด แต่ในมือแกยังกอดเอากล้องไว้ติดตัว

Robert Capa ผ่านสงครามมาถึง 5 สงคราม แม้ Capa จะอยากเข้าไปถ่ายรูปในสงคราม แต่แกก็เกลียดสงครามเสมอ มันคือสิ่งที่มีผลกระทบทางจิตใจ ต่อชีวิตแกตั้งแต่เกิด ท่ามกลางช่วงชีวิตที่โลกมีแต่ความกระหายสงครามของผู้มีอำนาจ ในขณะเดียวกัน Robert Capa คือช่างภาพที่ถ่ายทอดภาพสงครามในสายตาแกมาให้คนทั้งโลกได้เห็น และภาพทั้งหมดนั้น คือสิ่งที่ทำให้คนทั้งโลกจดจำ Robert Capa ตลอดไป
ปิดท้ายด้วยโฆษณาของ Leica M-Monochrom กล้องดิจิตอลขาวดำของ Leica เค้า ที่เสมือนบอกเล่าผ่านเจ้ากล้อง Leica III ของ Robert Capa
บทความ โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

บทความดีมาก ๆ ครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ 🙂