ทำไงดี? กลัวฟิล์ม Fog เวลาโดน X-ray ตอนเดินทางไปต่างประเทศ

ปัญหาโลกแตกทุกครั้ง โดยเฉพาะเวลาช่วงหน้าเทศกาลที่คนไปเที่ยวต่างประเทศกันเยอะๆ มักจะมีคำถามมาบ่อยๆว่า “พี่.. จะไปประเทศ XXX พกฟิล์มไปจะเป็นอะไรมั๊ย?” อาจจะด้วยเพราะคำขู่ที่มีมานมนานเกี่ยวกับปัญหา “Fog” หรือผลกระทบต่อฟิล์มที่ยังไม่มีการถ่าย โดยเครื่อง X-ray ตามสนามบิน ทำให้เกิดเอฟเฟคคล้ายๆหมอกบนภาพ มีผลต่อสุขภาพจิตของคนรักฟิล์มเสมอมา

ในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบที่เกิดจาก X-ray ที่เอามาแชร์ๆกัน อาจจะเกิดจากปัญหาอื่นๆได้อีกมากมาย เช่น กล้องมีปัญหา , การถ่ายภาพที่มีปัญหา , การล้างฟิล์มที่มีปัญหา , การสแกนฟิล์มที่มีปัญหา ฯลฯ แต่ด้วยความนอยด์ ก็เลยเหมารวมไปว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากเอาฟิล์มผ่านเครื่อง X-ray ก็เป็นไปได้ด้วย

เราก็เลยทำการพิสูจน์ให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นการเสี่ยงตายครั้งสำคัญ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เราแบกฟิล์มกว่า 50 ม้วน คละแบบ ตั้งแต่ ISO 50 ยัน ISO 400 (ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ตามคู่มือของปัญหาการ X-ray จะบอกว่า ฟิล์มที่มีความไวแสงสูงจะมีปัญหามากกว่า) เดินทางจากกรุงเทพ – เวียดนาม และ เวียดนาม – กรุงเทพ – อินเดีย – ลอนดอน บวกกับขากลับที่ต้องแบกฟิล์มที่ถ่ายไม่หมดกลับมา ตั้งแต่ ลอนดอน – อินเดีย – กรุงเทพ สิริรวมแล้วต้องผ่านเครื่อง X-ray ทั้งแบบ Carry-on (แบกขึ้นเครื่อง) และ Loaded ใต้เครื่อง จะเท่ากับประมาณ 8 ครั้ง

ซึ่งผลที่ได้จากทริปแรกนี้ก็คือ ไม่มีเอฟเฟคใดๆที่แสดงให้เห็นว่ามีอาการ “Fog” เลย ดูได้จากภาพข้างล่างนี้

28_091501 (8)Edited

Fujicolor X-tra 400

27_09001 (24)

Fujicolor PRO400H

25_09001 (2)Edited-2

Rollei RPX 400 Push to 1600

25_09001 (14)Edited

Cinestill 50D

นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมกราที่ผ่านมา เราก็ยังขนเอาฟิล์มไปอีกประมาณ 60 ม้วน โดยส่วนหนึ่งคือฟิล์มที่เหลือจากทริปที่แล้วนั่นแหล่ะ.. (แปลว่ามันผ่านการ X-ray มาแล้วประมาณ 8 ครั้ง) เดินทางไปอินเดีย (ส่วนใหญ่คือฟิล์ม Fujicolor X-tra 400) เพราะฉะนั้นจะเท่ากับว่า มันต้องผ่านการ X-ray อีก 4 ครั้ง รวมเป็นทั้งหมด 12 ครั้ง ซึ่งผลที่ได้ก็เช่นเคย คือไม่มีอาการของ “Fog” ให้เห็น ดูได้จากภาพข้างล่างนี้

Varanasi27_1_LeicaEdited

Fujicolor Superia 200

Varanasi26_1_Leica (18)

Fujicolor X-tra 400

Varanasi26_1_klasse (6)Edited-2

Fujicolor Premium Superia 400

ซึ่งจริงๆแล้วฟิล์มทุกยี่ห้อก็ย่อมมี QC ไม่ต่างกัน จะว่าไปแล้ว ปัญหาที่คนกลัวกันต่างๆนานา เกิดจากคำแนะนำของ Kodak ที่ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 2003 ที่พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับฟิล์มที่ยังไม่ถูกใช้แล้วต้องผ่านเครื่อง X-ray ตามสนามบิน ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง “Fog” ขึ้น (และจริงๆแล้วก็มีพูดถึงในคู่มือของฟิล์มทุกยี่ห้อนั่นแหล่ะ แต่บทความของ Kodak ค่อนข้างเจาะลึกเรื่องนี้) จนทุกวันนี้ ปัญหานี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่เหล่าคนถ่ายกล้องฟิล์มทั่วโลกอยู่ทุกวี่วัน ว่ามันมีปัญหานี้อยู่จริง หรือ.. ไม่มีแล้วแน่

จากข้อมูลเครื่อง X-ray ของทาง Canadian Air Transport Security Authority เมื่อปี 2010 บอกเอาไว้ว่า มาตรฐานเครื่อง X-ray ในปัจจุบัน มีผลต่ำมากๆกับฟิล์มถ่ายรูปความไวแสงอย่างน้อย ISO 800 ที่ยังไม่ได้ถูกถ่าย จนไม่เกิดผลกระทบใดๆ แต่ถ้ามีการผ่านการสแกนหลายๆครั้งเข้า ก็อาจจะต้องระมัดระวังบ้าง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การผ่านเครื่อง X-ray โดยปกติ จึงไม่ได้ส่งผลเท่าที่ควรแล้วในปัจจุบัน

แต่ถ้ายังไม่สบายใจ การปฏิบัติตามสิ่งที่ Kodak เคยแนะนำไว้เมื่อปี 2003 ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราเลยขอสรุปหัวข้อสำคัญๆให้ฟังตามนี้

  • พยายามหลีกเลี่ยงการเอาฟิล์มที่ยังไม่ได้ใช้ แพคใส่กระเป๋าที่ต้อง Loaded ใต้เครื่อง เพราะเครื่อง X-ray ที่ใช้มักจะมีความรุนแรงกว่า
  • พกฟิล์มที่ยังไม่ได้ถ่ายติดตัวเสมอ การผ่านเครื่อง X-ray ที่ใช้กับการ Carry-on หรือแบกขึ้นเครื่อง จะรุนแรงน้อยกว่า หรือถ้าพนักงานเขาใจดี ก็ขอให้ใช้เครื่องสแกนมือเลยก็ได้นะ

ส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยเห็นด้วยกับถุงกัน X-ray อะไรแบบนั้น เราคิดว่าไม่คุ้มเท่าไหร่ที่จะมีปัญหากับพนักงานตรวจคนเข้าเมืองในแต่ละประเทศ เพราะมันอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นคนที่น่าสงสัยว่า เฮ้ย! มึงนี่ทำไมกลัวการโดนสแกนวะ ขนยาป่ะเนี่ย.. อะไรแบบนี้.. เพราะฉะนั้น.. อย่ากลัวกันจนเกินไป ระมัดระวังเท่าที่จะทำได้ก็พอ เท่านี้ก็เดินทางไปกับกล้องฟิล์มกันได้อย่างแฮปปี้เอนดิ้งแล้วล่ะ

บทความ โดย SUN

ผู้สนับสนุนหลัก  Husband and Wife Shop

จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

Leave a Reply