ใครจะเชื่อว่า นี่…คือการกลับมารีวิวฟิล์มอีกครั้ง หลังจากรีวิวไปเมื่อ 2 ปีก่อน! เชรด… ทำไมขี้เกียจแบบนี้นะ… จริงๆเคยตั้งใจเอาไว้แหล่ะนะว่าจะเทสอย่างจริงจังให้ดูกัน เอาเป็นว่าเราจะได้พบกันใหม่แน่ๆ (ประโยคแบบนี้ดูเป็นลางไม่ค่อยดี ประหนึ่งคำ Polycat ได้กล่าวไว้ “ด้วยคำที่บอกว่าเราจะมาพบกันใหม่ มักจะไม่พบกันอีก”)
วันนี้เริ่มต้นเขียนถึงฟิล์มตัวนี้กันดีกว่า AGFA Vista เพราะว่ามีคนถามบ่อยมากว่ามันต่างกับตัวอื่นยังไง? ขอบอกความในใจของเราอันนึงก่อนเลยว่า อย่าไปคาดหวังให้ฟิล์มสี มันแตกต่างกันมากๆขนาดเหมือนที่เราถ่ายดิจิตอลแล้วมาใส่ Filter อะไรแบบนั้น ตัวแปรของการถ่ายฟิล์มมันเยอะมาก! เช่น แสงที่ถ่ายในวันนั้น , กล้องอะไร , ล้างฟิล์มยังไง , สแกนยังไง ฯลฯ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ถ่ายเอง ทดลองเองเยอะๆ จะแยกแยะไม่ออกเลย ขอโคว้ดคำพูดเน้นๆ “ฟิล์มสีมันไม่สำเร็จรูปเหมือนแอพนะเว้ย!!” การถ่ายฟิล์มต้องอาศัยการลองเยอะๆเท่านั้น ถึงจะเข้าใจในรายละเอียดนะ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะแนะนำเกี่ยวกับฟิล์มตัวนี้ให้ฟัง เป็นเพียงข้อมูลกลางๆ เบื้องต้นเท่านั้นนะ แนะนำให้ไปทดสอบเองกันต่อด้วย เอาล่ะ…มาทำความรู้จักฟิล์มตัวนี้กันก่อน ฟิล์มยี่ห้อ AGFA นั้น เดิมทีผลิตอยู่ในประเทศเบลเยี่ยมมาอย่างยาวนานในชื่อบริษัท Agfa-Gevaert เป็นร้อยกว่าปี จนกระทั่งปี 2004 ทาง AGFA ก็พยายามแยกบริษัทย่อยออกมาเพื่อจัดการผลิตภัณฑ์ฟิล์มและกล้อง แต่เพียงปีเดียวก็ต้องแจ้งล้มละลาย (เคสคล้ายๆกับ Kodak ) สุดท้ายก็เลยต้องขาย License ให้กับบริษัทอื่นขายผลิตภัณฑ์ฟิล์ม และสินค้า Consumer (ลูกค้าทั่วไป) แทน ซึ่งมีบริษัท AgfaPhoto Holding GmbH. เป็นผู้ดูแล License ส่วนบริษัท Agfa-Gevaert เดิม ก็หันไปทำธุรกิจที่ขายสินค้าระหว่างบริษัทธุรกิจด้วยกันแทน
ปัจจุบันนี้ สินค้าประเภทฟิล์มที่เป็นแบรนด์ AGFA จึงไม่ใช่ AGFA ดั้งเดิมเป็นคนผลิตแล้ว แต่เป็นบริษัท Lupus Imaging & Media แทน แต่ก็นั่นแหล่ะ.. ใครจะไปสนใจ เอาเป็นว่ามันยังมีการผลิตตามปกติให้เราได้ใช้อยู่ก็พอแล้ว..
ฟิล์ม AGFA ตอนนี้มีเหลืออยู่ 5 ตัว (เหลือเฉพาะขนาด 35mm.) นั่นคือ ฟิล์มขาวดำ AGFA APX 100 และ 400 , ฟิล์มสไลด์ มีรุ่นเดียว AGFA CT 100 ส่วนฟิล์มสีที่เราจะพูดถึงวันนี้ก็คือ AGFA Vista 200 และ 400
ในบรรดาฟิล์มสีในตลาดปัจจุบัน ฟิล์มสี AGFA นับว่าราคาไม่แพงเลย ยืนหยัดราคาผ่านช่วง 3-4 ปีที่ฟิล์มกลับมาบูมสุดๆได้อย่างแข็งแรง เป็นแบรนด์ที่ขยับราคาน้อยที่สุดแล้ว เลยกลายเป็นความหวังของคนรักฟิล์มในปัจจุบัน เพราะนอกจากราคาจะดีแล้ว คุณภาพก็ยังดีอีกต่างหาก
โทนสีโดยทั่วไปคือค่อนข้างสีสันมากหน่อย แต่ไม่เยอะมากเท่าเกรดไล่ๆกันของ Fujicolor อย่าง Superia แต่ก็เรียกว่าสีสันกว่าทาง Kodak พวก Gold หรือ Ultramax เหตุผลที่ AGFA สีกำลังดีคงเป็นเพราะ Contrast ของฟิล์มอยู่ในระดับกลางๆด้วยเช่นกัน คือเทียบกับ Fujicolor Superia มันก็จะน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้น้อยระดับฟิล์มแพงๆท็อปๆอย่าง Kodak Portra หรือ Fujicolor Pro400H
การเลือกใช้ระหว่าง Vista 200 และ 400 ก็เป็นเหมือนการเลือกความไวแสงของฟิล์มทั่วไป ถ้าถ่ายกลางแจ้งมากๆ แดดดีๆ ก็แนะนำ Vista 200 เกรนละเอียดหน่อย ส่วนถ้าอยู่ในแสงครื้มมากหน่อย หรือต้องการความเร็วชัตเตอร์มากๆ เช่น อะไรที่มันวิ่งน่ะ กีฬาสี อะไรงิ ก็ไป Vista 400 เกรนก็จะมากหน่อย
ข้อดีที่เห็นได้ชัดเลยคือ เมื่อมันถูกถ่ายในเวลาที่แสงแดดจัดมากๆ ปรากฏว่ามันให้สีจริง สีตรง (โดยเฉพาะสีเทานี่ดี เราชอบ) โดยที่ Contrast ไม่เละเทะ เหมือนฟิล์มตัวอื่นๆ ซึ่งมันโคตรเหมาะกับแสงแดดเมืองไทยที่มันแรงกว่าชาวบ้านชาวช่อง
ข้อเสียที่ส่วนตัวเราไม่ชอบคือ สีเขียวของมัน มันดูอ่อนจนดูไม่ค่อยสวย ซึ่งอันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ ใครชอบไม่ชอบต้องไปลองเอาเอง ส่วนใหญ่เราจะหลีกเลี่ยงการถ่ายอะไรที่เป็นต้นไม้ แต่ถ้าถ่ายอะไรที่เป็นเมืองๆ สตรีทอะไรแบบนี้ถือว่าดี
ตัวอย่างภาพ AGFA Vista 200




ตัวอย่างภาพ AGFA Vista 400



บทความ โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

เห็นที่อังกฤษมีขายม้วนละปอนด์ (iso200 24รูป) จะลองใช้ดูค่ะพี่ ดีใจที่กลับมาเขียนรีวิวให้อ่านอีกนะคะ 🙂