ถ้านั่งนับว่าเราเขียนรีวิวกล้องฟิล์มมานานเท่าไหร่แล้วนะ.. 1.. 2.. 3.. โห จะ 4 ปีอยู่แล้วเนี่ยยยย ซึ่งถ้าใครติดตามอ่านบล็อกเรามาจะสังเกตว่าเราเลือกจะรีวิวกล้องฟิล์ม Olympus เป็นส่วนใหญ่เลย ตั้งแต่สมัย Olympus Pen EE , Olympus Pen F หรืออย่าง Olympus 35 DC นี่ตั้งแต่ไม่มีใครสนใจใยดีมันเลยอ่ะ แต่จะมาหาว่าเราได้ตังค์มาเขียนก็ไม่ได้นะ เพราะไอ้กล้องพวกนี้นี่อายุปาเข้าไปรุ่นพ่อรุ่นปู่กันแล้ว คงไม่มีวางอยู่ตามห้างไรงี้
แต่กล้องฟิล์มอีกตัวที่เราดันไม่ได้เขียนถึงสักที แม้ว่ามันจะเป็นกล้องสุดฮิตตัวนึงที่คนเล่นกล้องฟิล์มแรกๆจะต้องอยากได้กันบ้างล่ะ นั่นคือ Olympus Trip 35 เอาจริงๆแล้วเราพยายามจะรีวิวมันอยู่หลายครั้ง เพราะอย่างช่วงสัก 2 ปีก่อนเป็นช่วงที่เราเทสกล้องฟิล์มเยอะมาก หนึ่งในนั้นที่เทสเยอะจนเรียกว่าซ่อมไปเป็นสิบตัวก็คือเจ้านี่แหล่ะ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียนถึงสักที รอบนี้ได้ฤกษ์จริงๆที่จะเขียนถึงล่ะนะ..

Olympus Trip 35 เป็นกล้องที่ยอดขายถล่มทะลายในยุคสมัยของมัน ขายได้เท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่มันผลิตออกมาเกิน 10 ล้านตัว!!! แม่เจ้า.. นอกจากขายได้เยอะ มันก็มีอายุการผลิตที่ยืนนาน (จนเมื่อย) เลยทีเดียว คือตั้งแต่ปี 1968 ถึง 1988 หรือสิริรวมได้ 20 ปี!! เชรด..
ทำไมมันถึงฮิตขนาดนี้?
จริงๆแล้ว Olympus Trip 35 เป็นผลพวงจากความฮิตของกล้องตระกูลPen EE ในช่วงต้น ’60s ในยุคสมัยที่กล้องพวก Half-frame กำลังได้รับความนิยมเพราะฟิล์มสมัยนั้นราคาแพงอยู่ และกล้องก็ยังไม่เป็นที่นิยมในคนทั่วไป (มีแต่ผู้ชายใช้ และมันดูเทคนิเชี่ยนมาก) เจ้ากล้อง Olympus Pen EE นี่แหล่ะที่สามารถฝ่าฟันสร้างตลาดใหม่ให้เกิดขึ้น (เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังพยายามกลับมายืนอย่างเข้มแข็งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการผลิตสินค้าที่ดีแต่ราคาถูก) แจ้งเกิดในตลาดคนทั่วไปเพราะมันใช้งานได้ง่าย แทบเรียกว่ากดถ่ายอย่างเดียว (ในยุคที่ยังไม่มี Auto Focus) แถมประหยัดด้วยการเป็น Half-frame ถ่ายม้วนนึงได้ตั้ง 72 รูป
จนมาถึงช่วงปลายยุค ’60s ตลาดเริ่มเปลี่ยนแปลงไป คนเริ่มไม่สนความประหยัดของ Half-frame แต่สนใจเรื่องคุณภาพของภาพที่ดีขึ้น (แต่ยังชอบความพกพาสะดวก) ซึ่งไอ้ความใช้ง่ายของมันก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม เป็นกล้องที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าใดๆ อาศัยวัดแสงแบบเซเลเนี่ยมที่นิยมมากๆในยุคนั้น เจ้าตัวนี้จะใช้แสงเป็นแหล่งพลัง (แต่ต่อมาช่วงปลายยุค ’70s ก็เลิกใช้กันเพราะมันมีการเสื่อมได้ง่าย ความแม่นยำน้อย)
เพราะฉะนั้นเจ้า Trip 35 จึงเป็นกล้องที่ใช้กลไกที่ง่ายๆมาก ไม่ซับซ้อน ซ่อมง่าย (ถ้าลองถอดเล่นเยอะๆคือจะเห็นเลยว่าชิ้นส่วนมันไม่ซับซ้อนอะไรมาก) ใช้ง่าย ราคาถูก มันก็เลยเป็นที่นิยมอย่างรุนแรงอย่างยาวนาน
มารู้จักเจ้า Trip 35 เบื้องต้นกันดู
ระบบการทำงานของ Olympus Trip 35 อย่างที่บอกว่ามันไม่ซับซ้อนเลย เริ่มตั้งแต่การโฟกัส ที่ใช้การโฟกัสแบบ Zone Focus คนสมัยนี้อาจจะรู้สึกว่ามันยากจังอ่ะ.. 1 เมตรคือตรงไหนวะ? 3 เมตรคือตรงไหนวะ? แต่นี่!!! คือกล้องคอมแพคออโต้มากๆแล้วสำหรับยุคนั้นเลยล่ะ
เจ้ากล้องตัวนี้ก็ใช้วิธีเป็นสัญลักษณ์ให้เข้าใจง่ายขึ้น รูปคน 1 คน ก็คือระยะประมาณ 1 เมตร , รูปคน 2 คนก็ประมาณ 1.5 เมตร , รูปคน 3 คนก็คือการถ่ายรูปหมู่ ก็ต้องยืนสัก 3 เมตร ส่วนรูปภูเขาก็คือ Infinity ถ่ายวิวหรืออะไรที่มันไกลตัวเรามากๆ แค่นี้เลย..

ส่วนโหมดวัดแสงก็มี 2 แบบ คือ A = ออโต้นั่นแหล่ะ อันนี้ไม่ต้องคิดอะไร เพียงแค่ตั้งค่า ISO ( หรือสมัยก่อนเรียก ASA นั่นแหล่ะ) ก็กดถ่ายได้เลย
ไอ้ระบบวัดแสงของกล้องก็ไม่ได้ละเอียดอะไรมากนักนะ โดยกล้องจะจัดการรูรับแสงที่ f/2.8 ถึง f/22 เป็นหลัก และมีความเร็วชัตเตอร์แค่ 2 สปีดคือ 1/40 กับ 1/200 sec เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรถ่ายอะไรที่เคลื่อนไหวมากๆเท่าไหร่ แต่กล้องจะเน้นไปที่รูรับแสง เพื่อให้มันชัดลึกได้ง่ายๆ
และจุดสำคัญที่เอาไว้เช็คว่ากล้องใช้ง่ายได้ปกติหรือเปล่าก็คือ “ธงแดง” ในโหมด A ถ้าเกิดแสงน้อยกว่าความสามารถกล้องจะทำงานได้ “ธงแดง” ก็จะโผล่ขึ้นมาในช่องมองภาพ และกล้องจะไม่สามารถกดชัตเตอร์ได้เลย น่ารักมากๆ อยากรู้ว่ากล้องทำงานปกติมั๊ยง่ายๆก็เอามือบังหน้ากล้อง แล้วกดถ่ายดู ถ้าธงแดงขึ้นก็เป็นอันกล้องทำงานอยู่ อันวิธีนี้นี่ก็มีใช้กันมาตั้งแต่ Olympue Pen EE แล้วนั่นเอง
ส่วนในโหมด Manual ก็คือกล้องจะปล่อยให้เราปรับรูรับแสงได้เอง (f/2.8 ถึง f/22) โดยที่ระบบวัดแสงจะไม่ทำงาน เราต้องกะเองเป็นนะ หรือใช้แอพวัดแสงในไอโฟนอะไรแบบนี้ก็ได้ และความเร็วชัตเตอร์จะอยู่ที่ 1/40 sec เท่านั้น โปรดระวังภาพไหวกันด้วย
อ่าว.. งั้นแล้วไอ้โหมด Manual นี่มีไว้ทำด๋อยอะไรน่ะเหรอ?.. ก็เพื่อสำหรับ หนึ่ง! ใช้งานกับแฟลช การปรับค่ารูรับแสงก็คือการควบคุมความแรงและระยะของแฟลชนั่นเอง (ยิ่งรูรับแสงแคบ แฟลชก็จะได้ระยะสั้น เบาลง) สอง! เวลาแสงไม่พอ ไอ้ธงแดงก็มาห้ามปรามเรา แต่กูจะถ่ายโว้ย!!! ก็ปรับเลย.. f/2.8 ถ่ายแม่ง ไม่แคร์ จะมืดก็ช่างแม่ง (เอาจริงๆฟิล์มมันมีไดนามิคที่กว้าง การที่อันเดอร์ 2-3 Stop ก็เป็นเรื่องที่รับได้ในหลายๆโอกาส)
ส่วนเรื่องระยะเลนส์นั้น ก็เป็นระยะที่ฮิตมากๆในยุคนั้นคือ 40 mm มันจะไม่กว้างและไม่แคบ เป็นระยะที่บางคนก็ชอบนะ เพราะ 35 mm บางคนก็ว่ามันกว้างไป จะ 50 mm ก็อึดอัดไปอะไรแบบนี้ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครใช้เท่าไหร่แล้วล่ะไอ้ระยะ 40 mm .. มันก็เอนกประสงค์ดีเหมือนกันแหล่ะ
โฟกัสใกล้สุด.. ก็คือการปรับมาที่รูปคน 1 คน มันจะตกอยู่ราวๆ 1 เมตร แต่ตามสเปคคือ 90 เซนติเมตร ก็คือๆกันนั่นแหล่ะ.. อย่าเอาไปถ่ายจานข้าว อาหารอะไรบนโต๊ะเหมือนที่เอาไอโฟนถ่ายนะ…แม่งเบลอเรียบเลย เพื่อนอาจจะนึกว่ามึงจะเซ็นเซอร์จานข้าวมึงทำไม..ไม่ใช่หนัง AV
ทดสอบใช้จริง
จากการใช้งานหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่านานๆจะได้ใช้ที ก็จะประทับใจกับบอดี้ก่อนเลย คือมันเบาและขนาดกำลังดี เทียบกับพวกกล้อง Olympus 35 DC อะไรแบบนั้น เจ้า Trip 35 จะเบากว่าอีก (แต่จะเอาไปเทียบกับการใช้งานก็ไม่ค่อยถูกนะ เพราะไอ้นั่นมัน Rangefinder ไอ้นี่มันกะระยะ ความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน) และการใช้งานก็ง่ายมากๆๆๆๆ ปรับโฟกัสแล้วกดเลย ว่องไว ทันใจดี สำคัญไอ้ตรงที่คนที่ถ่ายต้องเข้าใจการกะระยะนั่นแหล่ะ นอกนั้นไม่มีอะไรเลย
ส่วนเล็กๆอีกส่วนที่ชอบคือฟิลลิ่งของการกดชัตเตอร์ คือมันให้ความรู้สึกกลไกในระดับนึง ผสมกับความรู้สึกแบบของเล่นๆแต่ไม่ป๊อกแป๊ก เลยเหมือนกับเราได้สแนปภาพไปเรื่อยๆ ไม่ซีเรียสเกินไป สนุก แต่ได้ผลที่จริงจังอยู่
ขอเสียที่หนักข้อที่สุดก็เห็นจะเป็นมันไม่สู้แสงน้อยเอาซะเลย แนะนำสำหรับคนที่ใช้ในสภาพแสงที่หลากหลายก็ควรใช้ฟิล์ม ISO 400 นะ (อ่อ..ลืมบอก เจ้านี่ปรับ ISO ได้มากสุดแค่ 400 นะ อย่าไปซื้อฟิล์มที่ ISO สูงกว่านี้ล่ะ) แต่กระนั้น…สำหรับคนที่ชอบถ่ายในที่แสงน้อยก็คงไม่เหมาะกับเจ้านี่เอาซะเลยล่ะ ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
โดยรวมคือแม้ว่าวัสดุมันจะกึ่งๆจะแข็งแรง กับกึ่งๆจะพลาสติก อย่างไกขึ้นชัตเตอร์แบบนี้ เราเคยเจอปัญหาตัวที่พลาสติกฉีกก็มีนะ แต่เอาจริงๆมันก็เรียกว่าทนและดูแข็งแรงดีอยู่ ไม่เลวร้าย อย่างปุ่มชัตเตอร์ ก็ยังเป็นเหล็กนะ ถ้าเกิดเป็นรุ่นที่ผลิตปีแรกๆก็จะเป็นเหล็กสีเงิน ส่วนปีหลังจะเป็นเหล็กสีดำ
ผลงาน (ใช้ฟิล์ม Agfa Vista 200)






สรุป
สำหรับผลงานที่ออกมา ถือว่าทำได้ดีในระดับที่น่าพอใจ การใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องคิดเยอะ แม้แต่เราเอาแฟลชมาใช้ ก็ใช้ด้วยง่ายดี ถ้าให้พูดถึงคุณภาพภาพอาจจะไม่ได้คมกริบมากแบบกล้องยุคหลังๆ ต้องเข้าใจว่ามันเป็นเลนส์ที่ผลิตจากพลาสติกด้วยนะ ไม่ใช่ชิ้นแก้ว (แต่พลาสติกที่ไม่ป๊อกแป๊กเลย) แต่ได้โทนเดียวกับพวก Olympus 35 DC , 35 EC อะไรพวกนั้นได้อยู่ ใช้ได้ดีทีเดียว
ก็คือถ้าใครชอบภาพโทนกล้องยุค ’60-70s นะ มันจะไม่ได้ชัดแจ่มแมว สีไม่ได้สดใสแบบกล้องคอมแพคยุคหลังๆ แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชอบถ่ายกลางวัน กลางแจ้งมากกว่าในร่ม ก็แนะนำได้เลย ดีงาม คุ้มค่าคุ้มตังค์ที่จ่ายไป
รูปร่างหน้าตา // ★★★★☆
(หน้าตาใช้ได้ หล่อเหลาเอาการเอางาน ใช้ไปซื้อโค้กซีโร่ได้)
วัสดุ // ★★★★☆
(ดีหมด ยกเว้นเลนส์ที่เป็นพลาสติก หัก 1 ดาว)
คุณภาพการถ่าย // ★★★★☆
(ให้ 4 ก็อาจจะเยอะไปสักจิ๊ดนะ ประมาณ 3.8 ละกัน )
ฟังก์ชั่น // ★★★☆☆
(ตัดคะแนนสองเรื่อง ISO ได้แค่ 400 , ชัตเตอร์สปีดมี 2 สปีด)
คุ้มค่า? // ★★★★☆
(เทียบกับราคา ความหล่อ และภาพที่ได้แล้ว.. คุ้ม!)
รีวิว โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ
