เห็นช่วงนี้ฮิตกล้องออโต้กันจั๊งเลยย อาจจะเพราะคนอยากลองเล่นฟิล์มแต่ก็ไม่อยากปรับอะไรยากๆก็เป็นได้ จนตอนนี้ราคาเหล่ากล้องออโต้น้อยใหญ่พากันก้าวกระโดดกันไปไกลเหลือเกิน
ว่ากันถึงกล้องออโต้นี่ถ้าจะให้เล่าความเป็นมา ก็อาจจะต้องแบ่งออกตามช่วงเวลาที่มันได้ถือกำเนิด พัฒนา จนถึงวาระสุดท้ายของกล้องฟิล์ม นับๆดูแล้วก็น่าจะใช้เวลาราวๆ 20 กว่าปีในตลาดเห็นจะได้
ย้อนกลับไปในช่วงยุค ’70s แบรนด์แรกที่นำเสนอเทคโนโลยี ‘Autofocus’ สู่วงการถ่ายภาพคือ Leica นะ แต่จนแล้วจนรอดปรากฏว่าคนที่พาสู่ตลาดจริงๆจังๆเป็นเจ้าแรก (หมายถึงผลิตขายสู่ตลาดนั่นแหล่ะ) คือ Konica กับกล้องรุ่น C35 AF ในปี 1977 ซึ่งเราเคยพูดถึงอยู่เหมือนกันเมื่อนานมาแล้ว แต่ที่จะพูดถึงในวันนี้ ไม่ใช่ตัวนี้ 555
ตัวที่จะพูดถึงในวันนี้คือ Olympus C-AF อันเป็นกล้องฟิล์มออโต้โฟกัสตัวแรกของแบรนด์ Olympus ซึ่งวางจำหน่ายในปี 1981 หรือราวๆเกือบ 40 ปีที่แล้ว

อันจะว่าไปถึงเทคโนโลยีออโต้โฟกัสในยุคแรกๆนั้น ก็ไม่ได้จะฉลาดอะไรเหมือนออโต้โฟกัสในปัจจุบันนี้นะ ให้อธิบายหลักการทำงานง่ายๆก็คือมันเป็นกล้อง Zone Focus หรือกล้องแบบกะระยะที่มีแสงอินฟราเรดยิงออกไปเพื่อช่วยหาระยะของวัตถุให้ แล้วกล้องมันก็จะปรับโฟกัสเป็น Zone ใกล้เคียงกับวัตถุนั้นๆ แปลว่า “มันจะไม่ได้โฟกัสเป๊ะๆ 100%”
แต่ก็นั่นแหล่ะ.. มันคือความใหม่มากๆในยุคปี 1981 รวมถึงมันก็เป็นตัวกำหนดทิศทางของกล้องคอมแพคในยุคต่อๆมา อย่างเช่น กล้องออโต้โฟกัสที่สามารถยัดแฟลชเอาไว้ในตัวกล้องได้อะไรแบบนี้ด้วย
Olympus C-AF เป็นกล้องออโต้โฟกัสตัวแรกของ Olympus และถือว่าเป็นการแตกไลน์สินค้าใหม่เพื่อทดสอบเทคโนโลยีใหม่กับตลาดดู เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กล้องคอมแพคของ Olympus ในตระกูล XA กำลังเป็นที่นิยมมากๆ เนื่องจากมันมีขนาดเล็กและเบามาก คุณภาพภาพที่ดีโคตรเกินตัว แต่ XA ก็ยังทำงานด้วยการโฟกัสในแบบดั้งเดิมคือ Rangefinder (Olympu XA) บ้าง , Zone Focus (Olympus XA 1,2,3,4) บ้าง



นอกจากมันเป็นกล้องที่ใช้ระบบออโต้โฟกัสเป็นตัวแรกแล้ว มันยังเป็นกล้องตัวแรกที่ถูกบรรจุแฟลชเข้าไปในตัวกล้องแบบ Built-in ด้วย ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของกล้องคอมแพค และมันก็รวมร่างกันระหว่างไลน์สินค้าตระกูลออโต้โฟกัส และตระกูล XA ที่เริ่มเสื่อมความนิยมในช่วงกลางยุค ’80s จนกลายเป็นกล้องออโต้คอมแพคอันลือลั่นอย่าง Olympus mju ในเวลาต่อมา
จะว่าไปเจ้าตัวนี้หน้าตามีความคล้ายกล้องที่โด่งดังอีกตัวของ Olympus ที่ฮิตมาตั้งแต่ปลายยุค ’60s ผลิตกันยาวนานจนถึงกลางยุค ’80s ก็คือ Olympus Trip 35 ซึ่งพื้นฐานโดนรวมก็น่าจะมาในทางนั้นจริงๆ อย่างเช่นการโฟกัสแบบกะระยะ , ระยะเลนส์ 38mm (เจ้า Trip 35 คือ 40mm ถือว่าใกล้กัน) มันเหมือนทาง Olympus เชื่อว่า เฮ้ย!! แบบนี้มันฮิต เราก็น่าจะพัฒนาให้มันฉลาดขึ้นจากแนวๆนี้สิวะ อะไรแบบนั้น
มาดูสเปคกล้องกันสักนิด
- ระยะเลนส์ 38mm f/2.8
- ความเร็วชัตเตอร์ 1/8 – 1/500 sec
- ทำงานโหมด Program ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสง / ความเร็วชัตเตอร์ อัตโนมัติ
- มีแฟลชในตัว
- วัดแสง ISO 25 – 400
- ใช้แบต AA x 2 ก้อน
จะเห็นว่าสเปคมันค่อนข้างธรรมด๊าธรรมดา คือแค่พอใช้งานทั่วๆไป ไม่สามารถจะเค้นอะไรมากมาย คล้ายๆกับการใช้เจ้า Olympus Trip 35 นั่นแหล่ะ ประมาณว่าพอตกเย็นนี่จบข่าว ยิงแฟลชเอาอย่างเดียวเลยนะ อะไรงี้ สำหรับใครที่ชอบแนวดิบๆ ก็ไม่ต้องห่วงข้อนี้กัน
มาดูการใช้งานจริงกัน
จากการใช้งาน คือถ้าใครเคยใช้กล้องออโต้ในยุค ’80s นี่จะเข้าใจว่ามันมีคาแรกเตอร์คล้ายๆกันคือ มีขนาดใหญ่ๆหน่อย แต่ไม่หนักมากเท่ากล้องยุค ’70s เพราะวัสดุมันเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีพลาสติกมาข้องเกี่ยวเยอะขึ้น (แต่เจ้า Olympus C-AF นี่หนักไปทางเหล็กซะเยอะอยู่) แต่มันยังไม่สามารถยัดเทคโนโลยีลงไปในบอดี้ที่เล็กได้ ก็เลยออกมาแนวๆนี้กันหมด
สิ่งที่ชอบในตัวนี้คือ ส่วนตัวเราเป็นคนชอบการขึ้นฟิล์ม คือไม่ชอบการฟีดฟิล์มอัตโนมัติแบบพวกกล้องคอมแพคในยุค ’90s มันไม่ค่อยได้อารมณ์การถ่ายฟิล์มเลย เพราะฉะนั้นไอ้เจ้า C-AF นี่ค่อนข้างหัวโบราณ ยังขึ้นฟิล์มแบบดั้งเดิมเลยล่ะ ระบบชัตเตอร์ก็ดั้งเดิมอยู่ เป็นกลไล ทำให้มีน้ำหนักในการกดถ่าย เพราะไม่ใช่ชัตเตอร์ไฟฟ้าที่จะเบาๆ
มาถึงจุดที่เป็นสิ่งสำคัญของมัน ก็คือระบบออโต้โฟกัส
การทำงานมันใช้แสงอินฟราเรดหาวัตถุที่เราเล็งออกไป โดยมันจะแค่กะระยะนะ (Zone Focus) ไม่ใช่หาจุดโฟกัสแบบเป๊ะๆเหมือนในยุคต่อมา และปัญหาของอินฟราเรดในยุคแรกๆคือมันมีความพลาดเยอะ โดยเฉพาะถ้ามีความเหลื่อมของแสงเยอะ (มีจุดสว่าง , จุดมืด) , หรือแสงน้อยเกินไป หรือวัตถุที่เราต้องการถ่ายมีหลายระดับ (หน้า กลาง หลัง) มันจะไม่รู้ว่าเราเอาอันไหนกันแน่ เป็นต้น
แต่โดยรวมก็คือสามารถถ่ายอะไรง่ายๆ ไม่ซับซ้อนได้ ถ้าใครเป็นช่างภาพแนว “ช่างแม่ง” ถ่ายสแนปๆ อยากจะหน้าชัดหลังเบลอ แต่กลายเป็นหน้าเบลอหลังชัด น่าจะชอบ 555 ถ้ามืดก็ยิงแฟลชเอาซะอะไรงี้ เท่ๆ แต่ถือว่าไม่ง่อยนะจ๊ะ อย่างเราทดลองยิงแฟลชเวลาถ่ายย้อนแสง กล้องก็ทำหน้าที่ได้ดีเลย ไม่ใช่เล่นๆ
ในด้านของโทนภาพ ความคมอะไรแบบนี้ เราเคยใช้กล้องออโต้โฟกัสในยุคเดียวกันนี้หลายรุ่น หลายยี่ห้อ Olympus C-AF ถือว่ากลางๆ ไม่ได้คม หรือสีสดเหมือน Olympus XA ถ้าให้เทียบน่าจะได้พอๆกับ Olympus Trip 35 มากกว่า
ใครที่อยากได้สีตุ่นๆหน่อย น่าจะชอบตัวนี้ แต่ถ้าใครอยากได้สีสดๆ เป๊ะๆนี่ผ่านไปได้เลย ส่วนใครถ่ายขาวดำนี่โอเคนะ ไม่มีปัญหา








สรุปเลย
กล้องออโต้โฟกัสในยุค ’80s ถือว่าเป็นกล้องที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดกล้องฟิล์มตอนนี้นะ สามารถหาได้ในราคาไม่กี่ร้อยบาท เต็มที่ก็ไม่เกินพันกลางๆ ด้วยความที่มันก้ำกึ่งในเชิงเทคโนโลยี มันเลยทำงานได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็ไม่ได้แย่นะ เหมาะกับคนที่อยากจะเริ่มเล่นกล้องฟิล์มหรือชอบความวินเทจหน่อย (เอาจริงๆก็ดีกว่าการใช้กล้องฟิล์มยุค ’60s หลายๆตัวเลย)
เจ้า Olympus C-AF มีดีตรงที่มันยังมีความดั้งเดิมอยู่ วัสดุแข็งแรงกว่าในช่วงปลายๆ ’80s ที่เป็นพลาสติก การขึ้นฟิล์ม การกรอฟิล์มยังเป็นเมนวล ไอ้ระบบแบบนี้พังยาก!!
การใช้งานค่อนข้างสะดวก ซื่อๆตรงๆ ใส่ถ่าน AA สองก้อนซื้อตาม 7-11 ก็ถ่ายได้เลย (ไม่มีถ่านนี่ถ่ายไม่ได้นะ) ได้รูปแน่นอน แต่อะไรชัดบ้างนี่ก็มีโอกาสพลาดกันได้ 555 แฟลชก็แรงดี อาจจะชาร์ทรอบช้าไปบ้าง แต่พอทนอยู่
รูปร่างหน้าตา // ★★★☆☆
(มาตรฐานยุค ’80s)
วัสดุ // ★★★★☆
(เป็นเหล็กซะเยอะอยู่ แข็งแรงมากทีเดียว)
คุณภาพการถ่าย // ★★★☆☆
(พอใช้ได้ ไม่เลวๆ )
ฟังก์ชั่น // ★★★☆☆
(ข้อจำกัดเรื่องความเร็วชัตเตอร์และ ISO ที่ได้ไม่เยอะ)
คุ้มค่า? // ★★★☆☆
(หาได้ในราคาไม่แพงแน่ๆ ก็ถือว่าคุ้มแล้วล่ะ)
รีวิว โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ
