จำได้ว่าสมัยที่เล่นกล้องฟิล์มได้สักระยะนึง เริ่มรู้ตัวว่าชอบกล้องประเภท Rangefinder เอามากๆ เพราะมันคล่องตัวและสนุกกว่าสำหรับเรา จากเล่นพวก Fixed Lens ทั้งหลายในยุค ’70s อย่าง Olympus 35 DC , RC , SP อะไรแถวๆนั้น ก็เริ่มอยากจะได้กล้อง Rangefinder ที่เปลี่ยนเลนส์ได้บ้าง บวกกับเป็นคนชอบกล้องเล็กๆ แน่นอนเลยว่าถ้ามีความต้องการประมาณนี้ ทางเลือกแรกๆของคนเล่นกล้องฟิล์มก็คือ Leica CL
แต่จนแล้วจนรอด.. เราก็ไม่เคยได้เป็นเจ้าของ Leica CL นะ ได้แต่ผ่านมือไปผ่านมือมา เพราะสุดท้าย… มันก็ไม่ได้เข้ากับชีวิตเราซะทีเดียว แถมตอนนี้ผ่านมือเราอยู่ก็ดันไม่เคยเอามาเขียนรีวิวสักที
พอดีกับช่วงหลังๆมานี้ เห็นน้องเอิ้ต ภัทรวี เจ้าแห่งนักซื้อกล้องฟิล์มคนหนึ่งในสยามประเทศ (และกล้องของเราเอง ก็มักไปตกอยู่ในกำมือน้องอยู่หลายตัวแล้ว) ห้อยเจ้า Leica CL อยู่บ่อยๆ ด้วยความที่เพิ่งเริ่มทำคลิปใน Youtube Channel (ใครยังไม่ Subscribe นี่ไม่ได้นะ!! กดตรงนี้เลยๆ) ครั้นอยากจะกลับไปรีวิวกล้องที่เคยๆชอบ ก็ดันไม่ได้มีกล้องเยอะแยะเหมือนสมัยเล่นกล้องฟิล์มสัก 4-5 ปีก่อนที่แม่งมีเยอะมากกกก ทั้งขายด้วย ซื้อๆขายๆตลอดเวลา ถึงได้เขียนรีวิวเอาไว้มากพอสมควร วันเวลาผ่านไป… ปัจจุบันแม่งมีกล้องอยู่ไม่กี่ตัว ขายกินเรียบ.. ทางเดียวที่จะรีวิวกล้องได้ก็เลย…

“น้องเอิ้ตตต… ขอยืมกล้อง Leica CL มารีวิวหน่อยยยจ้าา” ใช้ความมุ๊งมิ๊งและเคอะเขินเล็กน้อยทักน้องเอิ้ตไป พร้อมกับรวบรัดนัดหมายมานั่งคุยกันเรื่องเจ้ากล้องตัวนี้
Leica CL ถือเป็นกล้องฟิล์มของไลก้าแบบเปลี่ยนเลนส์ที่ขนาดเล็กที่สุด บางสำนักว่ากันว่า เจ้านี่คือกล้องฟิล์มแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่ถึงแม้ว่ามันจะได้ติดชื่อว่า “Leica” ที่ตัวกล้อง แต่แฟนเดนตายของไลก้าหลายๆคนก็มักจะไม่เต็มใจนับมันเป็นญาติสักเท่าไหร่… เหตุผลก็คงเพราะมันไม่ได้ถูกผลิตโดยบริษัทแม่ซะทีเดียว (เอาจริงๆถ้าใช้วิธีคิดนี้ เจ้าไลก้าดิจิตอลหลายๆตัวในปัจจุบันก็เข้าข่ายอยู่เหมือนกันนะ..) แต่มันถูกผลิตโดยบริษัท Minolta ในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่าเกือบจะทั้งหมดเลย มีเพียงการออกแบบและเทคโนโลยีวัดแสงที่เป็นของไลก้าแน่ๆล่ะ

แต่ปัจจัยที่พามาสู่จุดที่แบรนด์ Leica ยอมร่วมมือกับแบรนด์ Minolta จริงๆแล้วก็คือ ในยุค ’70s บริษัทกล้องทั่วโลกต่างกำลังเดินไปทางเทคโนโลยีกล้องประเภท SLR (Single Lens Reflex) แทนที่เทคโนโลยี Rangefinder ที่กำลังกลายเป็นสิ่งล้าสมัย แต่ก็นั่นแหล่ะ.. การก้าวข้ามไปสู่ SLR ไม่ได้สวยงามอย่างที่ไลก้าคิด แม้ว่าพวกเขาจะเริ่มต้นมานานพอๆกับเจ้าอื่น แต่กลับไม่สามารถยืนอยู่ในตลาดได้มั่นคงนัก
ด้วยการผลิตกล้องประเภท SLR ของไลก้า หรือที่เรียกว่า Leica R ออกสู่ตลาดนั้น พวกเขาต้องพึ่งพาบริษัทอย่าง Minolta ในการผลิตและเทคโนโลยีหลายๆอย่าง ประกอบกับประเด็นที่รุนแรงที่สุดของไลก้าก็คือ การผลิตกล้อง Leica M5 ในปี 1971 ซึ่ง M Series นี้ถือเป็นไลน์ผลิตที่แข็งแกร่งที่สุดของพวกเขา แต่…โลกของพวกเขากลับพังทะลาย เมื่อ Leica M5 ออกสู่ตลาด มันกลับโดนคำวิจารณ์เรื่องหน้าตาอย่างยับเยิน “ทั้งเทอะทะ และน่าเกลียด” น่าจะเป็นคำบ่นจากแฟนๆที่ถูกพูดซ้ำมากที่สุด

ท้ายที่สุด ไลก้าก็ต้องจำยอมต่อสภาพตลาดที่อันตรายนี้ (Leica M5 ถูกจำหน่ายรวมตลอดสายการผลิตของมันแค่ราวๆ 3 หมื่นกว่าตัวเท่านั้น) ทางออกในขณะนั้นก็คือ พวกเขาอยากทำกล้องที่มีขนาดเล็ก (เหมือนอยากลบปมด้อย) และราคาประหยัด (อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาถูกสวดตามมา เช่น น่าเกลียดแล้วยังจะแพงอีก…อะไรทำนองนั้น) แต่การจะอาศัยเทคโนโลยีที่ตัวเองมีมาผลิต ก็อาจจะสายเกินไป และลงทุนมากเกินไปสำหรับสถานการณ์ล่อแหลมนี้ นั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ Leica x Minolta ได้เกิดขึ้นเพื่อสร้างเจ้า Leica CL
ปี 1973 หลังจาก Leica M5 ออกวางจำหน่าย 2 ปี เจ้า Leica CL ก็ออกวางตลาดบ้าง ความเล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา หน้าตาดี และราคาถูก ไม่ต้องบอกก็คงพอจะเดาได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น? ยอดขายพุ่งกระฉูดของ Leica CL กลายเป็นสิ่งที่ทั้งตลาดต้องหันมามอง แต่ก็โคตรเซอร์ไพร์ส…ที่มันดันไม่ใช่ความประทับใจสำหรับบริษัทไลก้าเอง แม้ว่ามันจะขายดีเอามากๆ แต่มันกลับไม่ได้ทำกำรี้กำไรมากพอสำหรับพวกเขา และที่สำคัญ… มันทำลาย Leica M5 ตรงๆแบบสิ้นซาก และบั่นทอนความเป็นแบรนด์ Hi-end อันเป็น DNA ของไลก้าไปพร้อมๆกัน
ท้ายที่สุด.. ไลก้าก็หยุดการผลิตเจ้า Leica CL ลง พร้อมกับความตะลึงงันของตลาด เอ้า…ขายดีๆอยู่ทำไมเลิกซะงั้น… จากนั้นเป็นต้นมา จากรุ่นสู่รุ่น เราคิดว่านี่คือปมด้อยลึกๆของผู้เล่นกล้อง Leica แบบฮาร์ดคอร์ ที่เกิดเป็นความรู้สึกส่งต่อมาว่า เจ้า Leica CL นี้ ไม่ควรถูกใส่ชื่อ Leica ซะทีเดียว
เอาล่ะ.. จะยังไงก็ไม่รู้ เอาเป็นว่า ณ ปัจจุบัน มันก็ยังเป็นกล้องที่หลายๆคนหลงใหล อยากจะได้อยู่ดีนั่นแหล่ะ ไม่ใช่เพราะราคาหรอกนะ เพราะเอาจริงๆแล้ว ราคากลางในปัจจุบันก็พอๆกับเจ้า Leica M2
อะไรเด่น อะไรด้อย?
วันนี้จะไม่มานั่งพูดเรื่องสเปคกันเป็นข้อๆนะ เพราะเวบไหนก็มี แต่จะสรุปรวบยอดง่ายๆว่าอะไรที่ดี และไม่ดีไปเลย เอาเริ่มที่ตัวบอดี้กล้องก่อนละกัน..
- ความเร็วชัตเตอร์ของเจ้า CL สามารถทำได้ถึง 1/1000 ซึ่งเทียบกับขนาดของมันแล้ว เลยเป็นเรื่องน่าทึ่งอยู่เหมือนกัน และการออกแบบที่ย้ายที่ปรับความเร็วชัตเตอร์ไปอยู่ที่ด้านหน้ากล้อง นอกจากทำให้ประหยัดพื้นที่ได้แล้ว ยังทำให้มันดูหน้าตาดีอีกด้วย ข้อเสียก็อาจจะมีอยู่เหมือนกัน ตรงที่มันใช้งานอาจจะไม่สะดวกเท่าการที่อยู่ด้านบนสักเท่าไหร่
- น้ำหนักกล้องที่เบา แต่ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยวัสดุที่แตกต่างไปจาก Leica M ที่ผ่านๆมาคือมีพลาสติกปนกันบ้าง แม้ว่าจะไม่ได้ดูพรีเมี่ยมเท่า M Series แต่ก็ยังดูทนทานและไม่ง๊องแง๊งจนเกินไปนัก (โอเคๆ.. ไม่เถียงหรอกว่ามันสู้ Leica M ไม่ได้)
- ระบบวัดแสง ใช้ระบบ CdS อันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ที่มาแทนที่ระบบ Selenium (ทำงานด้วยแสงแดด ไม่ต้องมีแบตเตอรี่) ซึ่งมีอายุสั้นและไม่เที่ยงตรง เอาจริงๆแล้วระบบวัดแสงที่ใช้กับ Leica CL นี้ก็เป็นระบบวัดแรกแบบ CdS ตัวแรกของไลก้าด้วยซ้ำ ที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อใส่ใน Leica M5 กล้องตระกูล M ที่มีระบบวัดแสงเป็นตัวแรกของพวกเขานั่นแหล่ะ แต่เพราะยอดขายที่ยอดแย่นั้น ทำให้ไลก้าตัดสินใจเอาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีนั้นมาใส่ไว้ใน Leica CL แทน ถึงตรงนี้.. ก็อยากจะปักหมุดไว้ให้คนที่ตัดสินใจซื้อ Leica CL ไว้เลยทีเดียวละกันว่า ระบบวัดแสงของมันนี่แหล่ะ.. ที่ปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมาก เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ปรากฏว่าระบบวัดแสงของเจ้านี่ ดันเสียซะเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าถ้าเจอกล้อง Leica CL ตัวไหนที่วัดแสงได้อยู่ นับว่าเป็นบุญมากทีเดียว (และท้ายที่สุด มันก็มักจะพังอยู่ดี) ดังนั้น.. ถ้าใครรักเจ้าตัวนี้ล่ะก็ ก็ขอให้ทำใจเรื่องวัดแสงซะก่อนเลย จะได้ไม่เจ็บช้ำมากนักทีหลัง
- การรองรับเลนส์ระยะต่างๆของ Leica CL จะเริ่มต้นที่ระยะ 40mm อันเป็นระยะที่มาพร้อมเลนส์ของเขานั่นแหล่ะ นอกจากนี้ Frameline ของกล้องก็ยังรองรับระยะ 50mm และ 90mm อีกด้วย ซึ่ง Viewfinder ก็ถือได้ว่ากว้างและสว่างใช้ได้ เมื่อเทียบกับขนาดตัวกล้อง ภายในช่องมองภาพก็จะบอกค่าวัดแสงแบบระบบเข็มให้รู้อีกด้วย
- อีกเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องจารึกเอาไว้สำหรับ Leica CL เลยก็คือ “เลนส์” ไอ้เจ้ามูลค่าส่วนใหญ่ของกล้องรุ่นนี้ เอาจริงๆก็คือเลนส์นี่แหล่ะ.. Leitz Summicron-C 40mm f/2 เลนส์นอกสายตาของใครหลายคน ที่หารู้ไม่ว่ามันทรงพลังไม่น้อยหน้า Summicron 35mm หลายๆเจน แต่เราสามารถซื้อมันได้ด้วยราคาที่ถูกกว่า 2-3 เท่าตัว
- โอเคล่ะ.. ด้วยระยะ 40mm อาจจะไม่ได้พอดิบพอดีกับกล้อง Rangefinder มาตรฐานทั่วไปที่ส่วนใหญ่มักจะรองรับระยะ 35mm ก็เป็นประเด็นที่ทำให้มันราคาไม่สูงเหมือนเลนส์อื่นๆของ Leica แต่ถ้าคุณยอมรับความแคบกว่า 5mm นี้ได้ มันจะคุ้มค่าสุดๆเลยล่ะ
ผลงานของน้องเอิ้ต ภัทรวี
สรุปเลย
ไม่พูดเยอะ (ไม่ได้เจ็บคอ แต่ไปดูต่อได้ในคลิปนะจ๊ะ) สำหรับเราแล้ว มันถือเป็นกล้องที่เหมาะกับคนที่ชอบพกกล้อง Rangefinder คุณภาพดี แต่ขี้เกียจแบกหนักๆหรือใหญ่ๆ พกได้ทุกที่ ไม่มีกล้องตัวไหนจะมาเทียบได้หรอก นอกจาก!!!! Minolta CLE กล้องที่ถูกผลิตต่อจาก Leica CL หลังจากที่ไลก้าล้มเลิกโปรเจคไป Minolta ก็ผลิตซะเองเลย ข้อที่ดีกว่าของ Minolta CLE คือ มันเพิ่มโหมด A หรือ Aperture Priority มาด้วย ก็คือปรับเฉพาะรูรับแสงมา แล้วกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ตามให้ นับว่ามีประโยชน์ทีเดียว (แต่ก็แลกมาซึ่ง ถ้าแบตหมด..กล้องก็ทำงานไม่ได้เลยนะ)
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ปัญหาที่เจอกับกล้อง Leica CL คือเรื่องระบบวัดแสงเสีย ถ้าทำใจเรื่องนี้ได้ เข้าใจการวัดแสงแบบ SUNNY 16 หรือถ้าไม่รู้สึกวุ่นวายที่จะใช้วัดแสงจากแอพในมือถือ ก็ไม่ต้องคิดมากที่จะซื้อ Leica CL เพราะนอกนั้นมันก็เรียกว่าเป็นกล้องที่ดีมากตัวนึงเลยล่ะ
ป.ล. ขอขอบคุณน้องเอิ้ต สำหรับการให้ยืมกล้องมา ณ ที่นี้
รูปร่างหน้าตา // ★★★★★
(หล่อสวยรวยเสน่ห์)
วัสดุ // ★★★★☆
(อาจจะไม่ได้ดีเท่า Leica M แต่ก็ไม่กระจอกเลยนะ)
คุณภาพการถ่าย // ★★★★★
(เลนส์ Leica รับประกันคุณภาพ)
ฟังก์ชั่น // ★★★★☆
( เรื่องวัดแสงล้วนๆนะ ก็ขอตัดไป 1 ดาว)
คุ้มค่า? // ★★★★☆
( ถ้ามันมีเฟรมระยะ 35mm และวัดแสงแข็งแรงล่ะก็ มันคงกลายเป็นกล้องเพอร์เฟคเกินไปก็ได้นะ )
รีวิว โดย SUN



ผู้สนับสนุนหลัก Husband and Wife Shop
จำหน่ายอุปกรณ์ถ่ายภาพฟิล์มกล้องอุปกรณ์ล้างฟิล์มสแกนฟิล์มและบริการต่างๆ

One Comment Add yours